การฟื้นฟูสมรรถภาพการเดินในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลันโดยการใช้หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินเปรียบเทียบกับวิธีกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิม
รัตนาพรรธณ์ จันทร์อุบล*, ภาริส วงศ์แพทย์, ลาวัลย์ พานิชเจริญ, นภาพิตร ชวนิตย์
Department of Physical Medicine & Rehabilitation, Prasat Neurological Institute, Bangkok, Thailand, 10400; E-mail: cpaphan@yahoo.com
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพการเดินในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมองโดยการใช้หุ่นยนต์ฝึกเดินร่วมกับวิธีการฝึกกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิม
รูปแบบงานวิจัย: การศึกษาวิจัยแบบสุ่มมีกลุ่มเปรียบเทียบ
สถานที่ทำการวิจัย: สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
กลุ่มประชากร: ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมองระยะกึ่งเฉียบพลัน อายุระหว่าง 18-80 ปี จำนวน 40 คน
วิธีการศึกษา: แบ่งประชากรศึกษาเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม กลุ่มทดลองได้รับการฝึกเพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการเดินโดยหุ่นยนต์ฝึกเดินเป็นเวลา 30 นาทีร่วมกับกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิมอีก 30 นาที กลุ่มควบคุมรับการฝึกวิธีกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิม 60 นาทีทุกวันราชการต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน ประเมินความสามารถด้วยแบบทดสอบ Functional Ambulation Classification, Barthel Index, Berg Balance
Scale (BBS), 10 meter walk test, 6 minute walk test, และ Resistance to Passive Movement (REPAS) รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลหลังการฝึก 1 เดือนและ 3 เดือนขณะติดตามการรักษา
ผลการศึกษา: ประชากรศึกษาในกลุ่มทดลองมีระดับความสามารถหลังการประเมินด้วยแบบทดสอบต่าง ๆ ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ทุกแบบทดสอบยกเว้นแบบทดสอบ BBS และ REPAS เมื่อวิเคราะห์ผลหลังการฝึกที่ 1 และ 3 เดือน
สรุป: การฝึกด้วยหุ่นยนต์ฝึกการเดินร่วมกับกายภาพบำบัดแบบดั้งเดิมมีผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมองดีกว่าวิธีการฝึกกายภาพบำบัดแบบเดิมเพียงอย่างเดียวในแง่ของระดับความสามารถของการเดินความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันด้วยตนเอง ความเร็วความยาวช่วงก้าว และความทนทานในการเดิน
 
ที่มา
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ปี 2555, May ปีที่: 22 ฉบับที่ 2 หน้า 42-50
คำสำคัญ
Stroke, Rehabilitation, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, โรคหลอดเลือดสมอง, การฝึกเดิน, Walking, การเดิน, gait training, robot, หุ่นยนต์