การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการตรวจคัดกรองพยาธิสภาพจอประสาทจากโรคเบาหวานในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์*, บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล, มนทรัตน์ ถาวรเจริญทรัพย์, สุภาพร พรพิเนตพงศ์, อัมพร จงเสรีจิตต์
ศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินต้นทุน-ประสิทธิผลของความถี่ต่างๆ ของการตรวจคัดกรองพยาธิสภาพจอประสาทตาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยเครื่องมือ indirect ophthalmoscopy โดยจักษุแพทย์ ในมุมมองของโรงพยาบาล
ระเบียบวิธีวิจัย: การศึกษานี้ใช้โครงสร้างแบบจำลองโรคชนิดมาร์คอฟ โดยทำการติดตามผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยจำนวน 1,000 คน โดยติดตามตั้งแต่อายุ 40 ปี จนอายุ 75 ปีหรือเสียชีวิต ค่าความน่าจะเป็นในการเปลี่ยนจากสถานะสุขภาพหนึ่งไปสู่สถานะสุขภาพหนึ่งได้จากการทบทวนวรรณกรรมและผู้เชี่ยวชาญ สำหรับข้อมูลต้นทุนได้รับจากโรงพยาบาลซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพมหานคร การคำนวณต้นทุนใช้วิธี microcosting ผลการศึกษานำเสนอเป็นเงินบาทที่เพิ่มขึ้นต่อการป้องกันตาบอด 1 ดวง (incremental Baht per blindness prevented) การศึกษานี้ใช้อัตราค่าปรับลดเท่ากับร้อย 3 การศึกษานี้มีการวิเคราะห์ความไวหลายชนิด
ผลการศึกษา: ผลการศึกษาพบว่าอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองทุก 4 และ 3 ปี เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมีค่าสูงกว่าอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองทุก 2 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ภาวะนี้ค่าอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลที่สูงเช่นนี้ ทำให้การตรวจคัดกรองทุกๆ 4 และ 3 ปี ไม่มีความคุ้มค่าทางการแพทย์ อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองทุก 2 ปี เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง มีค่าเท่ากับ 79.879 บาทต่อการป้องกันตาบอดได้หนึ่งดวง ในขณะที่อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วย ประสิทธิผลในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองทุก 1 ปี เปรียบเทียบกับการคัดกรองทุก 2 ปี มีค่าเท่ากับ 95.225 บาทต่อการป้องกันตาบอดได้หนึ่งดวง
ผลการวิเคราะห์ความไวพบว่า ถ้าต้นทุนของการตรวจคัดกรอง ต้นทุนของการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ โอกาสที่ผู้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองจะมาพบแพทย์ด้วยตนเอง โอกาสที่ผู้ได้รับการตรวจคัดกรองจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดจอประสาทตาและอัตราการตายเพิ่มขึ้น จะทำให้อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ถ้าการดำเนินโรค, ประสิทธิผลของการรักษา, ความเสี่ยงของการเกิด Background Diabetic Retinopathy (BOR) เมื่อแรกเริ่มวินิจฉัยโรคเบาหวาน, อัตราการปรับลด, โอกาสที่ผู้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดจอประสาทตา, ความไวและความจำเพาะของการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นจะทำ ให้อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าระดับน้ำตาลในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองลดลง จะส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผลลดลงอย่างมาก เมื่อวิเคราะห์ในมุมมองทางสังคม พบว่าการได้รับการตรวจคัดกรองจอประสาทตานั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและสามารถป้องกันตาบอดได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง
สรุปผล: การตรวจคัดกรองทุกปีช่วยป้องกันตาบอดได้ดีที่สุด แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กลุ่มที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี ไม่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาในการตรวจครั้งก่อน การตรวจคัดกรองทุก 2 ปี น่าจะเหมาะสมกว่า ผลการศึกษาจากส่วนวิเคราะห์ ความไวบ่งชี้ว่าต้นทุนการตรวจคัดกรองเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญและมีผลต่ออัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผล
 
ที่มา
จักษุเวชสาร ปี 2553, January-June ปีที่: 24 ฉบับที่ 1 หน้า 10-25
คำสำคัญ
Cost-effectiveness analysis, Diabetic retinopathy screening