ความแตกต่างของคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคลมชักชาวไทยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชักและไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก
บุรณี กาญจนถวัลย์*, รัศริน กาสลัก
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand; Phone: 0-2256-4298; E-mail: drburanee@gmail.com
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์:  เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก และไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับการรักษาที่คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับการผ่าตัดรักษา และไม่ได้รับการผ่าตัดรักษา กลุ่มละ 60 คน เก็บข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลโรคลมชัก ข้อมูลทางจิตสังคม ภาวะซึมเศร้า (Hamilton depressive rating scale, Thai version) และคุณภาพชีวิต (WHOQOL-BREF-26 Thai-version) วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดย unpaired-t-test และ one-way ANOVA วิเคราะห์ปัจจัยพยากรณ์โดย stepwise multiple regression
ผลการศึกษา: พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชักมีค่าคะแนนคุณภาพชีวิตที่สูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชักอย่างชัดเจนมีนัยสำคัญ ทั้งค่าคะแนนรวม และแยกด้านสุขภาพกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเทียบกับประชากรไทยทั่วไป ปัจจัยที่พบว่า เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยประกอบด้วย การได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก อายุมาก มีช่วงหยุดชักต่อเนื่อง ช่วงเวลาป่วยไม่นานมาก ความสัมพันธ์ในครอบครัวดี การไม่มีภาวะซึมเศร้า โดยปัจจัยพยากรณ์ระดับคุณภาพชีวิตที่สำคัญที่สุดคือ การได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชัก
สรุป: คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยาที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคลมชักดีกว่าผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยาที่ไม่ได้รับการผ่าตัดอย่างชัดเจนทุกด้าน
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, September ปีที่: 95 ฉบับที่ 9 หน้า 1232-1238
คำสำคัญ
Quality of life, surgery, Epilepsy, Thai, Developing country