การใช้ลูกโป่งทางทวารหนักร่วมกับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานสำหรับการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม: การศึกษานำร่อง
ณัฏฐิยา ตันติศิริวัฒน์*, Sarissa Rangkla, Sujira Roongsirisangrat, Tarinee ManchanaDepartment of Rehabilitation Medicine, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Thai Red Cross Society and Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand; Phone & Fax: 0-2256-4433; E-mail: natthiyamd@gmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ปัจจุบันการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถือเป็นการรักษาลำดับแรกในสตรีที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจามอย่างไรก็ตามเป็น การยากสำหรับสตรีบางคนในการรับรู้การหดตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ภายหลังจากที่ได้รับการฝึกด้วยการสอนแบบปากเปล่า หลากหลายวิธีถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานรวมถึงการฝึกด้วยลูกโป่งทางทวารหนัก
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบแรงดันจากการขมิบของช่องคลอด ปริมาณปัสสาวะที่เล็ดบนผ้าอนามัยในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง (one-hour pad test), จำนวนครั้งที่พบปัสสาวะเล็ดราด การให้คะแนนถึงระดับความรุนแรงของอาการปัสสาวะเล็ดและความพึงพอใจระหว่างการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแบบมาตรฐานและการฝึกด้วยลูกโป่ง ทางทวารหนัก
วัสดุและวิธีการ: แบ่งผู้ป่วยที่มีปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจามจำนวน 28 คน เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแบบมาตรฐานด้วยการสอนแบบปากเปล่า อีกกลุ่มได้รับการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยลูกโป่งทางทวารหนักโดยใช้สายสวนปัสสาวะที่ถูกเติมด้วยนํ้าประปาในการสร้างลูกโป่ง โดยประเมินแรงดันจากการขมิบของช่องคลอดด้วยเครื่องป้อนกลับทางชีวภาพรุ่น เอ็ม วาย โอ 420
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่มาตรวจติดตาม 1 รายต่อกลุ่ม ดังนั้นจึงเหลือ 13 รายต่อกลุ่ม ภายหลังการฝึก ทั้งสองกลุ่มมีแรงดันจากการขมิบของช่องคลอดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการฝึกโดยกลุ่มที่ฝึกด้วยวิธีมาตรฐานและกลุ่มที่ฝึกด้วยลูกโป่งทางทวารหนักมีแรงขมิบของช่องคลอดที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9.9 และ 9.2 มม.ปรอท ตามลำดับ (p = 0.84) พบการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นในประเด็นด้านจำนวนครั้งของปัสสาวะเล็ด และคะแนนประเมินความรุนแรงของอาการปัสสาวะเล็ด แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่ม จำนวนคนที่ต้องใส่ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันภาวะปัสสาวะเล็ดลดลงร้อยละ 75 ในกลุ่มที่ฝึกด้วยวิธีมาตรฐานและร้อยละ 80 ในกลุ่มที่ฝึกด้วยลูกโป่งทางทวารหนัก อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มให้คะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติภายหลังจากการฝึก
สรุป: การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นวิธีการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจามที่มีประสิทธิภาพ การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยลูกโป่งทางทวารหนักไม่ได้เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแบบมาตรฐาน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, September
ปีที่: 95 ฉบับที่ 9 หน้า 1149-1155
คำสำคัญ
Stress urinary incontinence, Pelvic floor muscle training, Rectal balloon