ผลของการคลอดวิถีธรรมชาติกับการคลอดปกติต่อการฉีกขาดของฝีเย็บในผู้คลอดครรภ์แรก
Sureeporn Kritcharoen*, Kanjanee Phon-In, Pranee Pongpaiboon
Department of Obstetric-Gynecologic Nursing and Midwifery, Faculty of Nursing, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkhla, 90110, Thailand; E-mail: sureeporn.k@psu.ac.th
บทคัดย่อ
 
 วัตถุประสงค์: การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับการฉีกขาดของฝีเย็บระหว่างผู้คลอดที่ได้รับการดูแลตามโปรแกรมการคลอดวิถีธรรมชาติกับการดูแลการคลอดปกติ
วัสดุและวิธีการ: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้คลอดครรภ์แรก จำนวน 80 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
กลุ่มละ 40 ราย กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมการคลอดวิถีธรรมชาติ 6 ด้าน คือ 1) การดูแลอย่างมีมนุษยธรรม 2) การดูแลด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม 3) การงดกิจกรรมทางการแพทย์ที่ทำแบบกิจวัตรโดยไม่จำเป็น 4) หลีกเลี่ยงการรบกวนกระบวนการคลอดตามธรรมชาติ 5) การบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา และ 6) การใช้กระบวนการทำงานของธรรมชาติในการคลอดอย่างเต็มที่ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลการคลอดปกติ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกระดับการฉีกขาดของฝีเย็บ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติที ไคสแควร์ และแมนวิทย์นี ยู
ผลการศึกษา: ผู้คลอดในกลุ่มทดลองไม่มีการฉีกขาดของฝีเย็บร้อยละ 27.50 มีการฉีกขาดของฝีเย็บในระดับที่ 1 ร้อยละ 32.50 และมีการฉีกขาดของฝีเย็บในระดับที่ 2 ร้อยละ 40.00 ผู้คลอดในกลุ่มควบคุมมีการฉีกขาดของฝีเย็บในระดับที่ 2 ร้อยละ 100 และผู้คลอดในกลุ่มทดลองมีระดับการฉีกขาดของฝีเย็บน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (z=5.73 p<0.001)
สรุป: ผู้คลอดที่ได้รับการดูแลตามโปรแกรมการคลอดวิถีธรรมชาติมีการฉีกขาดของฝีเย็บน้อยกว่าผู้คลอดที่ได้รับการดูแลการคลอดปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2555, July-August ปีที่: 30 ฉบับที่ 4 หน้า 179-187
คำสำคัญ
ผู้คลอดครรภ์แรก, Natural childbirth, Normal labor, Perineal tear, Primiparous women, การคลอดปกติ, การคลอดวิถีธรรมชาติ, การฉีกขาดของฝีเย็บ