ผลของการเคลื่อนไหวแบบทำให้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอดในระยะปากมดลูกเปิดเร็วของผู้คลอดครรภ์แรก
วิชชุดา สาครตานันท์, อุไรวรรณ ชัชวาล, กันทรากร หงษ์รัตน์*
กลุ่มงานกายภาพบำบัด, โรงพยาบาลขอนแก่น
บทคัดย่อ
 
ความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บครรภ์คลอดเป็นปัญหาสำคัญของมารดาที่ต้องเผชิญในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ครั้งแรก ในทางปฏิบัติทางคลินิกได้มีการทดลองนำการเคลื่อนไหวแบบทำให้ (passive movement) ของข้อต่อของขาทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการลดอาการเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา มาประยุกต์ใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอด แต่ยังขาดการวิจัยเพื่อสนับสนุนผลของการเคลื่อนไหวดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเคลื่อนไหวแบบทำให้ ต่อการบรรเทาอาการปวดจากการเจ็บครรภ์คลอด ทำการศึกษาในผู้คลอดครรภ์แรก จำนวน 44 ราย โดยสุ่มแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการเคลื่อนไหวแบบทำให้ และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มควบคุมทั้งสองกลุ่มใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลาทั้งหมด 20 นาที ตัวแปรที่วัดในการศึกษาครั้งนี้คือ ระดับความเจ็บปวดและระดับความรู้สึกผ่อนคลาย (Visual Analogue Scale, VAS rating) ทั้งก่อนและหลังการให้การรักษา ผลการศึกษาพบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยของความเจ็บปวดในกลุ่มทดลองลดลงภายหลังการรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.00001) ซึ่งให้ผลตรงข้ามกับกลุ่มควบคุมที่คะแนนเฉลี่ยของความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อนึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่าในกลุ่มทดลองสามารถลด
อาการปวดได้มากกว่ากลุ่มควบคุมโดยมีค่าความแตกต่างกันเป็น 2.93 เซนติเมตร (ค่า 95% ความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 2.20 ถึง 3.68 เซนติเมตร) ค่าความแตกต่างดังกล่าวมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.0001) ทั้งนี้ให้ผลสอดคล้องกับผลของระดับการผ่อนคลาย จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าการเคลื่อนไหวแบบทำให้สามารถ ช่วยลดความเจ็บปวดในระยะเจ็บครรภ์คลอดและช่วยให้ผู้คลอดมีความผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงเห็นควรให้นำการเคลื่อนไหวแบบทำให้ไปใช้เป็นทางเลือกของการดูแลในทางคลินิกต่อไป
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2555, May-August ปีที่: 24 ฉบับที่ 2 หน้า 180-190
คำสำคัญ
labor pain, เจ็บครรภ์คลอด, ผู้คลอดครรภ์แรก, Passive movement, Primipara, การเคลื่อนไหวแบบทำให้