การศึกษาประสิทธิผลเบื้องต้นของการฝังเข็มต่อค่าการนำกระแสประสาทมีเดียนในโรคเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับบริเวณข้อมือ
ชื่นชม ชื่อลือชา*, วิชิต ศุภเมธางกูร
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลการฝังเข็มต่อค่าการนำกระแสประสาทมีเดียนในโรคประสาทมีเดียนถูกกดทับบริเวณข้อมือโดยเปรียบเทียบค่า latency, amplitude sensory nerve action potential (SNAP) และ compound nerve action potentials (CMAPS) ของเส้นประสาทมีเดียน อาการปวด ชา อ่อนแรง อาการชามือจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก และความยากลำบากของการใช้มือในกิจกรรมต่างๆ และความพึงพอใจต่อการรักษา
วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบ โดยผู้ประเมินไม่ทราบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยอยู่ในกลุ่มใด ที่คลินิกบริการเฉพาะทางโครงการจัดตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และโครงการจัดตั้งภาควิชาศัลยกรรมกระดูก ตึกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ระดับความรุนแรงน้องถึงปานกลาง ซึ่งทำการสุ่มเพื่อแบ่งประชากรเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการฝังเข็ม (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มควบคุม โดยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการรักษาโดยใช้วิธีการไม่ผ่าตัดอื่นๆ โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมือและ tendon gliding exercise แล้วทำการประเมินผลที่ 1 เดือน
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 26 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 11 คน และกลุ่มควบคุม 15 คน ทั้งสองกลุ่มไม่พบความแตกต่างกันในข้อมูลพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี > 0.05) การเปรียบเทียบ latency SNAP และ CMAPS ของเส้นประสาทมีเดียน ที่ 1 เดือน เมื่อเทียบกับที่ 0 เดือนพบว่าค่า latency SNAP และ CAMPS ของเส้นประสารทมีเดียน ทั้งสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มต่างดีขึ้นแต่ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม (ค่าพี > 0.05) สำหรับค่า amplitude SNAP และ CMAPs มีค่าลดลงในกลุ่มที่ได้รับการฝังเข็มแต่กลับดีขึ้นในกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม (ค่าพี >0.05) การเปรียบเทียบอาการปวดมือ อาการปวด ชา อ่อนแรง อาการชามือจนต้องตื่นมากลางดึกภายในแต่ละกลุ่มที่ 1 เดือน พบว่า อาการต่างๆ มีค่าลดลงในกลุ่มที่ได้รับการฝังเข็มมากกว่ากลุ่มควบคุมพบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี ≤ 0.05) เช่นเดียวกับการใช้มือในกิจกรรมต่างๆ ทำได้ดีขึ้นในกลุ่มที่ได้รับการฝังเข็มในขณะที่ทำได้ยากลำบากขึ้นขึ้นในกลุ่มควบคุมและมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี ≤ 0.05) ในด้านความพึงพอใจต่อการรักษาพบว่าในกลุ่มที่ได้รับการฝังเข็มมีความพึงพอใจมากกว่ากลุ่มควบคุมแต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี > 0.05)
สรุป: การรักษาโรคเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับบริเวณข้อมือโดยใช้การฝังเข็มนาน 1 เดือน มีผลช่วยให้ค่าการนำกระแสประสาทมีเดียนดีขึ้นแต่ให้ผลไม่แตกต่างกับการให้การรักษาโดยใช้วิธีการไม่ผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานแบบอื่นๆ แต่ได้ผลดีในการลดอาการต่างๆ ของโรคและทำให้ใช้มือทำกิจกรรมต่างๆได้ดีขึ้น
 
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2555, April-June ปีที่: 12 ฉบับที่ 2 หน้า 303-313
คำสำคัญ
Carpal tunnel syndrome, Needle acupuncture, Nerve conduction study of median nerve, การฝังเข็ม, ค่าการนำกระแสประสาทมีเดียน, โรคเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับบริเวณข้อมือ