การศึกษาเปรียบเทียบผลของ 0.1% ทิโมลอลชนิดเจลและ 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอดในการรักษาต้อหินมุมปิดเรื้อรัง
นริศ กิจณรงค์*, ปณิธี เลื่อมสำราญ, ศุภมาส โรจนนินทร์, อังคณา เมธีไตรรัตน์
Department of Ophthalmology Siriraj Hospital, Mahidol University 2 Prannok, Bangkok Noi Bangkok 10700, Thailand; Phone: 0-2419-8033, Fax: 0-2411-1906; E-mail: tenkn@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
 
ภูมิหลัง: โรคต้อหินมุมปิดเป็นโรคที่พบบ่อยในชาวเอเชียปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการเปรียบเทียบผลของยาหยอดระหว่างผู้ป่วยที่มีมุมตาปิดและเปิด
วัตถุประสงค์: เพื่อรายงานผลการลดความดันตาและผลข้างเคียงของร่างกายของ 0.1% ทิโมลอลชนิดเจลใช้วันละครั้งเปรียบเทียบกับ 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอดใช้วันละสองครั้ง ในการรักษาผู้ป่วยต้อหินมุมปิดเรื้อรัง
วิธีการศึกษา: การวิจัยแบบสุ่มไปข้างหน้าและบดบังผู้ทำการวิจัย มีสองช่วงในการวิจัยและสลับการรักษาในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิดเรื้อรัง โดยศึกษายาแต่ละชนิดเป็นเวลาหกสัปดาห์
ผลการศึกษา: จากการศึกษาทั้งหมด 25 ตา ความดันตาเฉลี่ยหลังการรักษาของกลุ่ม 0.1% ทิโมลอลชนิดเจลและ 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอดลดลงจากความดันตาเฉลี่ยก่อนการรักษาอย่างมีนัยสำคัญในเวลา 9, 11 และ 15 นาฬิกา (p < 0.001) ค่าเฉลี่ยของความดันตาเปลี่ยนแปลงจากก่อนการรักษาของกลุ่ม 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอดที่สัปดาห์ที่ 6 ลดลงมากกว่า ค่าเฉลี่ยความดันตาเปลี่ยนแปลง ของกลุ่ม 0.1% ทิโมลอลชนิดเจลที่เวลา 9 นาฬิกา (3.68 มม.ปรอท, 2.51 มม.ปรอท ตามลำดับ) และที่เวลา 11 นาฬิกา (4.21 มม.ปรอท, 2.51 มม.ปรอท ตามลำดับ) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.421, p = 0.157 ตามลำดับ) ที่เวลา 15 นาฬิกาของสัปดาห์ที่ 6 ค่าเฉลี่ยของความดันตาเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม 0.1% ทิโมลอลชนิดเจล (3.03 มม.ปรอท) ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ย ของความดันตาเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอด (2.84 มม.ปรอท) ความดันตา ที่ลดลงต่างกัน ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.873) 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอดลดความดันตาได้สูงสุด (19.82%) ที่เวลา 11 นาฬิกาของสัปดาห์ที่ 6 และ 0.1% ทิโมลอลชนิดเจลลดความดันตาได้มากที่สุด (14.38%) ที่เวลา 15 นาฬิกาสัปดาห์เดียวกัน ยาทั้งสองชนิดไม่มีผลข้างเคียงทางตาความดันโลหิตซิสโทลิกหลังจากรักษาด้วยทิโมลอลชนิดเจล และความดันโลหิตไดแอสโทลิกหลังจากรักษาด้วยทิโมลอลชนิดหยอด ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์ที่หกเทียบกับก่อนการรักษา (p = 0.006 และ p = 0.026 ตามลำดับ) โดยไม่มีความสำคัญทางคลินิก
สรุป: 0.5% ทิโมลอลชนิดหยอดและ 0.1% ทิโมลอลชนิดเจลสามารถลดความดันตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในผู้ป่วยต้อหินมุมปิดเรื้อรัง โดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการลดความดันตา ในช่วง 24 ชั่วโมง ไม่พบมีผลข้างเคียงทางตาและผลข้างเคียงทางร่างกายในทั้งสองกลุ่ม
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, April ปีที่: 95 ฉบับที่ Suppl4 หน้า S116-S122
คำสำคัญ
Timolol eye drop, Timolol eye gel, Chronic angle-closure glaucoma