ผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวลและความปวดในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด
จันทราพร ลุนลุด, จุรีพร อุ่นบุญเรือน, อุบล จ๋วงพานิช, ทิพวรรณ ขรรศร, ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
 
                การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยแบบทดลองชนิด Randomized control trial เพื่อศึกษาผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวลและความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด กรอบแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้ คือ ทฤษฏีความปวด กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดตามเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน 80 คน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553-กันยายน 2554 โดยเลือกตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด ด้วยวิธีสุ่มโดยใช้คอมพิวเตอร์แบบ Block randomized control trial แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลอง (40 คน) จะได้รับฟังดนตรีบำบัดทางหูฟัง ครั้งละ 30 นาที ในตอนเช้าและเย็น จำนวน 2 วัน รวม 4 ครั้ง และกลุ่มควบคุม (40 คน) จะได้รับการดูแลตามปกติจากพยาบาลประจำการ หลังจากนั้นกลุ่มควบคุมจะได้รับการดูแลตามปกติจากพยาบาล ผู้ป่วยกลุ่มทดลองจะได้รับการประเมินข้อมูลพื้นฐานและความชอบในการฟังดนตรี ความวิตกกังวล ความปวด ก่อนฟังดนตรีบำบัดและหลังฟังดนตรีครั้งที่ 2 และครั้งที่ 4 ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความปวด และความวิตกกังวล ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมจะได้รับการประเมินความวิตกกังวลก่อนหลังการได้รับการดูแลตามปกติจากพยาบาล ในวันที่ 1 และในวันที่ 2 และได้รับการประเมินความปวดเช่นเดียวกับกลุ่มควบคุม การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติ repeat measures analysis of variance เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนความปวดและความวิตกกังวลในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ผลวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนความปวด และความวิตกกังวลลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 10.39, P<0.05; MD -0.83, 95%CI -1.34 to -0.32; F = 4.76, P < 0.05 MD -0.75, 95% CI -1.43 to -0.07 ตามลำดับ)
 
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2555, January-March ปีที่: 30 ฉบับที่ 1 หน้า 46-52
คำสำคัญ
ความปวด, Music therapy, ดนตรีบำบัด, Anxiety, cancer pain, ควมวิตกกังวล