ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่ออาการเหนื่อยล้าในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
สุกัลยา นาดี*, อัมพรพรรณ ธีรานุตร, วัชรา บุญสวัสดิ์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจต่ออาการเหนื่อยล้าในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มารับการบริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 คัดเลือกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 30 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจเพื่อจัดการอาการเหนื่อยล้า กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมินระดับความรุนแรงของโรค แบบวัดการรับรู้พลังอำนาจในตนเอง แบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้นฉบับภาษาไทย แบบประเมินอาการเหนื่อยล้า โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ และคู่มือการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยล้าในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยายและทดสอบค่าที
                ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจมีค่าเฉลี่ยคะแนนอาการเหนื่อยล้าต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2)ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจมีค่าเฉลี่ยคะแนนอาการเหนื่อยล้าต่ำกว่าผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ได้รับการดูแลตามปกติในระยะหลังการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
                ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ สามารถบรรเทาอาการเหนื่อยล้าในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ จึงควรนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยล้าของผู้ป่วยสูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำวิจัยผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ต่อไป
 
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2554, October-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 69-78
คำสำคัญ
Fatigue, อาการเหนื่อยล้า, Empowerment program, the Elderly with COPD, โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ, ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง