การปรับรูปแบบบริการร่วมกับการใช้แรงสนับสนุนทางสังคมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน
กอบกุล พันธุ์รัตนอิสระ*, น้ำผึ้ง ดุงโคกกรวด, รณรุทธ์ บุตรแสนคม
โรงพยาบาลปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์
บทคัดย่อ
 
                จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ผู้วิจัยสนใจที่จะหากลวิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ มีความมุ่งหมายเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน จึงศึกษาโรงพยาบาลปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 60 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ 30 คน โดยผู้ป่วยเบาหวานทั้งสองกลุ่ม เป็นผู้ป่วยที่รับบริการตรวจรักษาที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลปะคำ ในกลุ่มทดลองจัดให้มีกิจกรรมกลุ่ม 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยมีกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เป็นผู้ให้แรงสนับสนุนทางสังคม การเก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเบาหวาน พฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t-test
                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบมีคุณลักษณะทางประชากร สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายกัน และก่อนทดลองมีความรู้เรื่องโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน พฤติกรรมการปฏิบัติตัว ความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารก่อนการทดลองไม่แตกต่างกัน หลังการให้โปรแกรมกลุ่มทดลองมีความรู้เรื่องโรค เบาหวานและภาวะแทรกซ้อน พฤติกรรมการปฏิบัติตัว ความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคเบาหวานมากกว่า กลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001) และมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารลดลงกว่าก่อนการทดลอง และลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001)
                การปรับรูปแบบบริการร่วมกับการใช้แรงสนับสนุนทางสังคม มีผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ จึงควรสนับสนุนให้มีการนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้กับผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลินในโรงพยาบาลอื่นต่อไป
 
ที่มา
วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2552, January-March ปีที่: 27 ฉบับที่ 1 หน้า 33-40
คำสำคัญ
Social support, Attitude, Knowledge, ความรู้, แรงสนับสนุนทางสังคม, การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, พฤติกรรม, behavior, fasting blood sugar control, ทัศนคติ