ภาวะปวดระดูในพยาบาล: ความชุก คุณภาพชีวิต และการดูแลรักษาอาการปวดระดูเบื้องต้น
กัญญา แก้วมณี, กัญญารัตน์ เชื้อหมอ, ประสงค์ ตันมหาสมุทร*Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, 2 Prannok Rd, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: 0-2419-4657, Fax: 0-2419-4658; E-mail: prasong.tan@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาหาความชุกของภาวะปวดระดูในพยาบาล ผลกระทบของภาวะปวดระดูต่อกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตและความรู้ในการดูแลภาวะปวดระดู
ชนิดของการทำวิจัย: การวิจัยเชิงพรรณนา
สถานที่ที่ทำวิจัย: โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
กลุ่มตัวอย่าง: พยาบาลหญิง ในโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 493 คน
วัสดุและวิธีการ: พยาบาลที่ยินยอมร่วมการศึกษาวิจัย จะได้รับแจกแบบสอบถาม 2 ชุด ชุดที่ 1 ข้อมูลพื้นฐาน ประวัติระดู ระดับความรุนแรงของการปวดระดู ผลกระทบของภาวะปวดระดูต่อกิจวัตรประจำวัน และวิธีการบรรเทาอาการปวด ทั้งหมด 32 ข้อ ชุดที่ 2 แบบประเมินคุณภาพชีวิต (short-form - 36)
ผลการศึกษา: ความชุกของภาวะปวดระดูของพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 70.2 โดยความชุกของกลุ่มที่มีอาการปวดเล็กน้อย ปานกลางและรุนแรง คิดเป็นร้อยละ 29.6, 38.9 และ 1.6 ตามลำดับ พบว่าอายุ จำนวนวันที่มีระดู และประวัติคนในครอบครัวมีอาการปวดระดู มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่มีอาการปวดระดูและกลุ่ม ที่ไมมี่อาการปวดระดู พบว่าอาการปวดระดูระดับปานกลางและรุนแรงมีผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันและการทำงานค่อนข้างมาก โดยพบว่า ร้อยละ 93 ทำให้เล่นกีฬาน้อยลง ร้อยละ
66.6 ทำให้เข้าสังคมน้อยลง ร้อยละ 81 มีผลต่อสมาธิในการทำงานลดลง และร้อยละ 16.5 ต้องลาหยุดงาน คะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยของกลุ่ม ที่มีอาการปวดระดูปานกลางและรุนแรงเท่า กับ 69.9 ซึ่งต่ำกว่ากลุ่ม ที่มีอาการปวดเล็กน้อยและไม่ปวด ซึ่งมีค่าเท่ากับ75.2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ร้อยละ 81 และ 68 ของกลุ่ม ที่มีอาการปวดระดูระดับปานกลางและรุนแรงทราบว่ายาพาราเซตามอลและ mefenamic acid มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดได้ ตามลำดับ
สรุป: อาการปวดระดูมีความชุกสูงในพยาบาล และอาการปวดในระดับปานกลางและรุนแรงมากมีผลกระทบด้านลบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน และคุณภาพชีวิต พยาบาลส่วนใหญ่ทราบว่ายาพาราเซตามอล และ mefenamic acid สามารถบรรเทาอาการปวดระดูได้ ผู้บริหารโรงพยาบาลควรใส่ใจกับภาวะปวดระดูในพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2555, August
ปีที่: 95 ฉบับที่ 8 หน้า 983-991
คำสำคัญ
Quality of life, nurses, Dysmenorrhea, Prevalence