ผลของโปรแกรม back school ต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและความถี่ในการระวังท่าทางในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง
วิมลรัตน์ โสมสิรินาค*, ธาริณี ขันธวิธิ, สศิมนต์ สกุลไกรพีระ
Department of Physical Medicine and Rehabilitation, BMA General Hospital
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และความถี่ในการระวังท่าทางระหว่างผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่เข้าร่วมโปรแกรม back school กับผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรม
วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ศึกษาในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง ซึ่งเข้ารับการรักษาที่งานกายภาพบำบัด กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลกลาง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 จำนวน 56 ราย กลุ่มควบคุม 28 ราย ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน คือการดึงหลัง การอบความร้อนลึก แนะนำการออกกำลังกายกล้ามเนื้อลำตัว และได้รับแผ่นพับความรู้เรื่องปวดหลัง กลุ่มศึกษา 28 ราย ได้รับการรักษาเช่นเดียวกับกลุ่มควบคุม และเข้าร่วมโปรแกรม back school โดยได้รับความรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ กลไกการเกิดโรค พยาธิสภาพ ชีวกลศาสตร์ของหลัง ท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน และฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อลำตัว ใช้เวลาอบรม 120 นาที ประเมินผลทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันแรกของการเข้ารับการรักษา วันจำหน่ายจากคลินิก  และหลังจำหน่าย 2 เดือน โดยวัดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันตามแบบสอบถามของ Oswestry (version 1.0) ฉบับภาษาไทย และวัดความถี่ของการระวังท่าทางด้วยแบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนา คะแนนจากทั้ง 2 แบบสอบถาม ได้ปรับเป็นร้อยละของคะแนนเต็ม ในการประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน คะแนนต่ำแสดงว่าผู้ป่วยมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดี ส่วนความถี่ของการระวังท่าทาง คะแนนสูง แสดงว่าผู้ป่วยมีการระวังท่าทางในชีวิตประจำวันดี
ผลการวิจัย: กลุ่มศึกษามีอายุเฉลี่ย 52.5±12.7 ปี กลุ่มควบคุมมีอายุเฉลี่ย 52.5±16.7 ปี คะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและความถี่ในการระวังท่าทางของกลุ่มศึกษามีแนวโน้มว่าจะดีกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่ถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.106 และ 0.060 ตามลำดับ) โดยกลุ่มศึกษามีคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันในวันแรกรับ วันจำหน่ายและหลังจำหน่าย 2 เดือน 33.2±15.3ม 21.8±14.7 และ 13.7±9.5 ตามลำดับ กลุ่มควบคุมมีคะแนนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันในวันแรกรับ วันจำหน่าย และหลังจำหน่าย 2 เดือน 34.1±14.4, 21.1±14.5 และ 21.2±14.8 ตามลำดับ กลุ่มศึกษามีคะแนนความถี่ในการระวังท่าทางในวันแรกรับ วันจำหน่าย และหลังจำหน่าย 2 เดือน 45.8±17.7, 66.2±17.9 และ 69.3±17.5 ตามลำดับ กลุ่มควบคุมมีคะแนนความถี่ในการระวังท่าทางในวันแรกรับ วันจำหน่าย และหลังจำหน่าย 2 เดือน 48.6±17.1, 59.4±21.6 และ 59.7±21.4 ตามลำดับ
สรุป: โปรแกรม back school มีแนวโน้มช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความถี่ในการระวังท่าทางในผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังมากกว่าการรักษาตามมาตรฐานเดิมเพียงอย่างเดียว
 
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2554, September-December ปีที่: 55 ฉบับที่ 3 หน้า 273-281
คำสำคัญ
Low back pain, back school program, ability of daily living