ผลของการนวดกดจุดฝ่าเท้าต่อคุณภาพการนอนในผู้สูงอายุที่มีภาวะนอนไม่หลับ
จรียา เขียวผึ้ง, ลดาวัลย์ อุ่นประเสริฐพงศ์ นิชโรจน์*, ประคอง อินทรสมบัติ, อรพิชญา ไกรฤทธิ์
Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University, E-mail: ralup@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
 
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยการสุ่มเข้ากลุ่มวัดผลก่อนและหลังการทดลอง เพื่อศึกษาผลของการนวดกดจุดฝ่าเท้าต่อคุณภาพการนอนในผู้สูงอายุที่มีภาวะนอนไม่หลับทำการศึกษา ณ ห้องตรวจการนอนหลับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 40 ราย ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2552 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติและกลุ่มทดลองที่ได้รับการนวดกดจุดฝ่าเท้าตามคู่มือนวดกดจุดฝ่าเท้า กลุ่มละ 20 ราย ทั้งสองกลุ่มได้รับการตรวจการนอนหลับด้วยเครื่องตรวจการนอนหลับโพลีซอมโนกราฟฟีในหนึ่งคืนของการทดลอง โดยแบ่งการวัดการตรวจเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะ 3 ชั่วโมงแรกและในระยะ 6 ชั่วโมง (หนึ่งคืนของการทดลอง) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ เครื่องตรวจโพลีซอมโนกราฟฟี ผลการศึกษา พบว่า การนวดกดจุดฝ่าเท้าในกลุ่มทดลองช่วง 3 ชั่วโมงแรกของการนอนหลับมีค่าเฉลี่ยของระยะเวลาของการนอนหลับในระยะที่ 2 น้อยกว่ากลุ่มควบคุม (ในการเข้าสู่ระยะการนอนหลับลึก) ระยะการนอนหลับแบบ NREM คิดเป็นนาทีใช้เวลาน้อยกว่าและมีค่าใกล้เคียงกับค่าปกติดีกว่ากลุ่มควบคุม (ในการเข้าสู่การนอนหลับแบบ REM) และระยะเวลาการนอนหลับ REM คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะมีค่าใกล้เคียงกับค่าปกติดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคุณภาพการนอนหลับ มิติความแปรปรวนการนอนหลับ ประสิทธิภาพการนอนหลับ ระยะเวลาการนอนหลับ ไม่พบความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การนวดกดจุดฝ่าเท้าเป็นกิจกรรมทางเลือกหนึ่งของการดูแลแบบผสมผสานแบบองค์รวม ช่วยส่งเสริมการนอนหลับซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ที่มา
รามาธิบดีพยาบาลสาร ปี 2554, January-April ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 90-107
คำสำคัญ
Insomnia, Foot reflexology, Quality of sleep, Older persons, Alternative medicine, การนวดกดจุดฝ่าเท้า คุณภาพการนอน นอนไม่หลับ ผู้สูงอายุ การแพย์ทางเลือก