ประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเองสำหรับสตรีวัยผู้ใหญ่
เรวดี เพชรศิราสัณห์*, นัยนา หนูนิลSchool of Nursing, Walailak University, Nakhon Si Thammarat Province, E-mail: rewwadee@yahoo.com
บทคัดย่อ
มะเร็งเต้านมเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสตรีไทย การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเป็นการตรวจโรคในระยะเริ่มแรกซึ่งสามารถลดอัตราการตายได้ การวิจัยเชิงกึ่งทดลองครั้งนี้เพื่อประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ภายในกลุ่มสตรีวัยผู้ใหญ่ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยประยุกต์แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ กิจกรรมในโปรแกรมประกอบด้วยการบรรยาย กระบวนการกลุ่ม ตัวแบบ การสาธิต การฝึกปฏิบัติ และการกระตุ้นเตือนโดยตัวแทนนักศึกษาพยาบาล จำนวน 40 คน เข้ารับการอบรมและปฏิบัติกิจกรรมตามโปรแกรม กลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบง่าย กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีจำนวนเท่ากัน กลุ่มละ 80 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ สำหรับกลุ่มควบคุมได้รับบริการ
ตามปกติของสถานีอนามัย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมี 4 ชุด ได้แก่ 1) แบบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง 2) แบบสอบถามความเชื่อเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนอง 3) แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะตนเองในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และ 4) แบบสอบถามพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล 2 ครั้ง คือ ก่อนเริ่มโปรแกรม และหลังโปรแกรมสิ้นสุดวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ paired t-test และ independent t-test ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองภายหลังโปรแกรมสิ้นสุด มีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การรับรู้สมรรถนะตนเองในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองสูงก่อนเริ่มโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และกลุ่มทดลองมีคะแนนทั้ง 4 ด้านสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการวิจัยครั้งนี้ พยาบาลและบุคลากรทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง สามารถนำโปรแกรมไปพัฒนาทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีในชุมชนที่ถูกต้องต่อไป
ที่มา
รามาธิบดีพยาบาลสาร ปี 2553, January-April
ปีที่: 16 ฉบับที่ 1 หน้า 54-69
คำสำคัญ
Knowledge, ความรู้, Promoting Self-Breast Examination Program, Health belief, Perceived self efficacy, Self-breast examination behavior, โปรแกรมส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง, ความเชื่อ, การรับรู้สมรรถนะตนเอง, พฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง