เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำระยะยาว และวิธีการให้รับประทานยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหลังผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบวางแผนล่วงหน้า
เสกสรรค์ แซ่แต้
สูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำระยะยาวและวิธีการให้รับประทานยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหลังผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบวางแผนล่วงหน้า
รูปแบบการศึกษา: การศึกษาเชิงทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม
สถานที่ศึกษา: งานสูติกรรม โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเข้ากลุ่มศึกษา และศึกษาไปข้างหน้า กลุ่มตัวอย่าง คือ หญิงที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบวางแผนล่วงหน้า ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 จำนวน 60 ราย โดยกำหนดคุณสมบัติกลุ่มตัวอย่าง คือ อายุไม่เกิน 40 ปี มีอายุครรภ์ > 37 สัปดาห์ Hemoglobin > 10g/dl ไม่มีอาการแสดงของการติดเชื้อของระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ หรือระบบทางเดินหายใจ และไม่มีภาวะเสี่ยงของการตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ 30 ราย กลุ่มที่ 1 ได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำระยะยาว คือ ได้รับยา cefazolin 2 gm ทางเลือดเลือดดำในระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัดได้รับทุก 8 ชั่วโมง ร่วมกับ gentamicin 240 mg ทางหลอดเลือดดำ 1 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 3 วัน กลุ่มที่ 2 ได้รับยา cefazolin 2 gm ทางหลอดเลือดดำ ในระหว่างผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดได้รับยา dicloxacilin 500 mg รับประทานก่อนอาหารและก่อนนอน โดยให้รับประทานทันทีที่ระบบทางเดินอาหารทำงาน กลุ่มตัวอย่างทุกคนได้รับการติดตามอาการติดเชื้อ เป็นระยะเวลา 30 วัน บันทึกผลลัพธ์สำคัญ คือ อาการไข้ การติดเชื้อของแผลผ่าตัด การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ มดลูกอักเสบ การติดเชื้อรุนแรงอื่นๆ ระยะวันนอนโรงพยาบาล และค่าใช้จ่าย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไควสแควร์และสถิติทดสอบที
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มมีอายุ อายุครรภ์ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคลอด สาเหตุของการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง การชักนำสลบ และระยะเวลาผ่าตัดไม่แตกต่างกัน (P > .05) กลุ่มที่ 1 หลังผ่าตัดมีไข้ ร้อยละ 6.67 กลุ่มที่ 2 ร้อยละ 10.00 ทั้งสองกลุ่มไม่พบการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ระบบทางเดินปัสสาวะ และมดลูก เมื่อเปรียบเทียบการมีไข้พบว่าไม่แตกต่างกัน (P > .05) ส่วนระยะวันนอนโรงพยาบาลและค่าใช้จ่าย พบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .05)
สรุป: การเปลี่ยนจากยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำเป็นชนิดรับประทานตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหลังผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแบบวางแผนล่วงหน้านั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้เท่าเทียมกับการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำนาน 3 วัน ช่วยลดระยะวันนอนและค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ปี 2554, May-August ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 90-103
คำสำคัญ
caesarean section, ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง, prolonged antibiotics prophylaxis, early switch of intravenous to oral antibiotics, การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ, การปรับเปลี่ยนยาปฏิชัวนะทางหลอดเลือดดำเป็นชนิดรับประทานโดยเร็ซ