การศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีนที่คลินิกภูมิแพ้ห้องตรวจโรคหู คอ จมูก โรงพยาบาลตำรวจ
มุกดา เจรจาปรีดี
Ear Nose Throat Clinic Police General Hospital, Thai Royal Police
บทคัดย่อ
 
 วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีนที่คลินิกภูมิแพ้ห้องตรวจโรคหู คอ จมูก โรงพยาบาลตำรวจ ในปีงบประมาณ 2551
วัสดุและวิธีการ: รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากรายงานสถิติ บันทึกการบัญชี และจากเวชระเบียนผู้ป่วยภูมิแพ้ทั้งหมดของคลินิกภูมิแพ้ รวบรวมเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินสวัสดิการของแพทย์และพยาบาลประจำห้องตรวจคลินิกภูมิแพ้ รวบรวมรายจ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2550 ถึง 30 กันยายน พ.ศ.2551 แล้วนำมาคำนวณหาต้นทุนรวม และต้นทุนต่อหน่วยโดยใช้โปรแกรม Microsoft word 2003
ผลการวิจัย: พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่คลินิกภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีนจำนวน 18 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 12 ราย มารับการรักษาโดยการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 170 ครั้ง มีรายได้จาการให้บริการ 36,350 บาท ต้นทุนโดยตรงทั้งหมดเท่ากับ 191,442.57 บาท เป็นต้นทุนค่าแรง 108,521.47 บาท (ร้อยละ 56.69) ต้นทุนค่าวัสดุ 66,343.80 บาท (ร้อยละ 34.66) ต้นทุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปา 6,335.16 บาท (ร้อยละ 3.30) ต้นทุนค่าลงทุนหรือค่าเสื่อมราคา 10,242.14 บาท (ร้อยละ 5.35) นำมาคำนวณต้นทุนต่อหน่วยได้เท่ากับ 1,126.13 บาท ซึ่งสูง กว่าราคาค่ารักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีนที่เรียกเก็บจริง 912.13 บาทต่อครั้ง ถ้าจะให้ถึงจุดคุ้มทุนคลินิกภูมิแพ้จะต้องให้บริการรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน 556 รายต่อปี
สรุป: ต้นทุนต่อหน่วยของการรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน เท่ากับ 1,126.13 บาท ต้นทุนต่อหน่วยที่คำนวณได้สูงกว่ารายได้เฉลี่ยที่เรียกเก็บจริง 912.13 บาท โดยมีสัดส่วนต้นทุนค่าแรงต่อต้นทุนค่าวัสดุ และค่าลงทุนเท่ากับ 56.69:37.96:5.35 เมื่อนำต้นทุนมาหาจุดคุ้มทุน พบว่าในแต่ละปีจะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยให้ได้อย่างน้อย 556 ราย หรือประมาณ 46 รายต่อเดือน ถ้ายังคงค่าตรวจอย่างเดิมไว้
 
ที่มา
เวชสารแพทย์ทหารบก ปี 2552, October-December ปีที่: 62 ฉบับที่ 4 หน้า 221-228
คำสำคัญ
Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, Allergic rhinitis, Subcutaneous immunotherapy, การรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน