ผลของโปรแกรมการบำบัดทางการพยาบาลต่อสมรรถนะทางกายและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
กรวรรณ จันทพิมพะ*, จรรจา สันตยากร, ชมนาด วรรณพรศิริ, ทวีศักดิ์ ศิริพรไพบูลย์
โรงพยาบาลหล่มสัก อ.หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์
บทคัดย่อ
 
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบำบัดทาง
การพยาบาลต่อสมรรถนะทางกายและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่มารับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพชุมชนในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน
30 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองจำนวน 15 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 15 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรม
การบำบัดทางการพยาบาล ซึ่งประกอบด้วยการบำบัดหลัก และการบำบัดเสริมรวม 6 ครั้ง การบำบัด
หลักครอบคลุมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การรักษาและการใช้ยา การรับประทานอาหาร การป้องกันอันตรายและการป้องกันภาวะแทรกซ้อน การบำบัดเสริม ได้แก่ เทคนิคการคลายเครียดจากใจสู่กาย เทคนิคการคลายเครียดด้วยการทำสมาธิ การโทรศัพท์กระตุ้นเตือนและการเยี่ยมบ้าน และการนัดผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มที่ศูนย์สุขภาพชุมชน ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามวัดคุณภาพชีวิตซึ่งผู้วิจัยได้ประยุกต์จากแนวคิดของพาดิลลาและแกรนท์ หลังจากกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการบำบัดทางการพยาบาลแล้ว เก็บข้อมูลหลังการทดลองทันที และหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะทางกายโดยรวมสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับคุณภาพชีวิต พบว่า หลังการทดลองทันทีและหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2550, January-June ปีที่: 1 ฉบับที่ 1 หน้า 57-71
คำสำคัญ
Quality of life, Physical competence, COPD patients, สมรรถนะทางกาย คุณภาพชีวิต ผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง