การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีจากการใช้ยาฉีดอินซูลินชนิดธรรมดากับชนิดปากกาในโรงพยาบาลลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
รุ่งโรจน์ ใบมาก
Department of Pharmacy, Latkrabung Hospital, Medical Service Department, Bangkok Metropolitan Administration
บทคัดย่อ
 
บทนำ: การใช้ยาฉีดอินซูลินแบบปากกามีความสะดวกในการฉีด สามารถเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาในผู้ป่วย และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษากรณีฉุกเฉิน หรือค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลได้มากกว่าการใช้ยาฉีดแบบธรรมดา แต่พบว่าการใช้ยาฉีดอินซูลินแบบปากกามีราคาสูงกว่าการใช้ยาฉีดแบบธรรมดา
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ระหว่างการใช้ยาฉีดอินซูลินแบบปากกา และยาฉีดอินซูลินแบบธรรมดาในผู้ป่วยเบาหวานที่รักษาในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
วิธีการศึกษา: การศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ (Cost-Benefit analysis) ในมุมมองของผู้ให้บริการ โดยมีการศึกษาข้อมูลไปข้างหน้า (Prospective study) ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังใช้ยาฉีดอินซูลินแบบปากกาครบในช่วง 4 เดือนแรก (ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง มกราคม พ.ศ.2552) จากนั้นจะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การฉีดเป็นแบบธรรมดา และติดตามระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังใช้ครบในช่วง 4 เดือนหลัง (กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ถึง พฤษภาคม พ.ศ.2552) ตลอดระยะเวลาการศึกษา ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับต้นทุนและผลได้
ผลการศึกษา: จากการศึกษา มีผู้ป่วยเบาหวานที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามาในการศึกษาจำนวน 37 ราย ในช่วง 4 เดือนแรก พบว่ามีผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารและ HbA1C ให้อยู่ในเป้าหมายได้ เพียงร้อยละ 21.6 และ 37.8 ตามลำดับ และควบคุมโคเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และเอชดีแอลได้ คิดเป็นร้อยละ 35.1, 45.9, 64.9 และ 2.7 ตามลำดับ ส่วนในช่วง 4 เดือนหลัง พบว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังการใช้ยาฉีดทั้งสองแบบ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และ HbA1C ไม่ต่างกันระหว่างสองกลุ่ม ส่วนระดับไขมันในเลือด พบว่าในช่วงการใช้ยาฉีดธรรมดาค่าเฉลี่ยของระดับแอลดีแอลของกลุ่มมีค่าเพิ่มขึ้น และระดับเอชดีแอลมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงการใช้ยาฉีดอินซูลินแบบปากกาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01 และ 0.001 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยของระดับโคเลสเตอรอลรวม และไตรกลีเซอไรด์ ในช่วงการใช้ยาฉีดแบบธรรมดา มีค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงการใช้ยาฉีดแบบปากกาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001 และ 0.001 ตามลำดับ) เมื่อประเมินต้นทุนผลได้ พบว่าการใช้ยาฉีดแบบปากกาต้องใช้ต้นทุนเพิ่มจากการใช้ยาฉีดแบบธรรมดา 40,769 บาท แต่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉินได้ 94,709 บาท คำนวณผลต่างของผลได้และต้นทุนได้ เท่ากับ 53,940 บาท
สรุปผลการศึกษา: การใช้ยาฉีดอินซูลินแบบปากกามีความคุ้มค่าคุ้มทุนมากกว่าการใช้ยาฉีดแบบธรรมดา โดยพบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉินได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ยาฉีดแบบธรรมดาในมุมมองของผู้ใช้บริการ
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ปี 2554, July-December ปีที่: 7 ฉบับที่ 2 หน้า 25-36
คำสำคัญ
Diabetes mellitus, Cost-benefit analysis, ผู้ป่วยเบาหวาน, Penfill insulin, Syring insulin, ยาฉีดอินซูลินแบบปากกา, ยาฉีดอินซูลินแบบธรรมดา, การวิเคราะห์ต้นทุนผลได้