การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยบริการของโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดนนทบุรี ปีงบประมาณ 2542
อรวรรณ นิ่มอนุสสรณ์กุล, สรวิชญ์ เชิญผึ้ง, วิไลพรรณ ศรีตระกูล, สะอาด สุขโพธิ์เพชร*
Provincial health office, Nonthaburi
บทคัดย่อ
 
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยบริการของโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดนนทบุรี ปีงบประมาณ 2542 วิเคราะห์ในมุมมองของผู้ให้บริการ โดยเก็บข้อมูลย้อนหลังจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิและบางส่วนทำการศึกษาไปข้างหน้าจากข้อมูลปฐมภูมิ กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยคือ โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 5 แห่ง เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ใช้แบบเก็บข้อมูลตามองค์ประกอบต้นทุน คือ ต้นทุนค่าแรง และต้นทุนค่าวัสดุ โดยจำแนกหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาล ออกเป็นหน่วยต้นทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2) กลุ่มที่ก่อให้เกิดรายได้ และ 3) หน่วยบริการผู้ป่วย ต้นทุนรวมของกลุ่มที่ 1 และ 2 กระจายมายังกลุ่มที่ 3 การกระจายต้นทุนใช้วิธีสมการซิมัลเทเนียส (Simultaneous equation method) เมื่อหารต้นทุนทั้งหมดของกลุ่มที่ 3 ด้วยปริมาณจำนวนครั้งผู้ป่วยนอก รายผู้ป่วยในและวันนอนผู้ป่วยในครั้งผู้ป่วยทันตกรรมและครั้งผู้มารับบริการงานส่งเสริมสุขภาพจะได้ต้นทุนต่อหน่วย
                ผลการวิจัยพบว่า ต้นทุนรวมของโรงพยาบาลชุมชนที่ศึกษาโดยเฉลี่ยเป็นเงิน 114,677,738 บาท จำแนกเป็น ต้นทุนค่าแรงและต้นทุนค่าวัสดุ คิดเป็นร้อยละ 64 และ 36 ตามลำดับ อัตราส่วนขององค์ประกอบ ต้นทุน ต้นทุนค่าแรง : ต้นทุนค่าวัสดุ เท่ากับ 1.27: 1 เมื่อจำแนกเป็นโรงพยาบาลชุมชนพบว่า ต้นทุนรวมของโรงพยาบาลบางกรวยมากที่สุด คิดเป็นเงิน 38,701,393.12 บาท สำหรับต้นทุนต่อหน่วยบริการ พบว่าต้นทุนต่อครั้งผู้ป่วยนอก โดยเฉลี่ย 191 บาทต่อครั้ง เมื่อแยกเป็นรายโรงพยาบาล พบว่าโรงพยาบาลบางใหญ่สูงสุด ต้นทุนต่อวันนอนของผู้ป่วยในโดยเฉลี่ย 1,299 บาทต่อวัน เมื่อแยกเป็นรายโรงพยาบาลพบว่า โรงพยาบาลปากเกร็ดมีต้นทุนสูงสุด ต้นทุนต่อรายของผู้ป่วยในโดยเฉลี่ย 3,650 บาทต่อราย เมื่อแยกเป็นรายโรงพยาบาล พบว่าโรงพยาบาลบางกรวยสูงสุด ต้นทุนต่อครั้งผู้ป่วยทันตกรรม โดยเฉลี่ย 471 บาทต่อครั้ง เมื่อแยกเป็นรายโรงพยาบาล พบว่าโรงพยาบาลบางกรวยมีต้นทุนสูงสุด ต้นทุนต่อครั้งผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินโดยเฉลี่ย 153 บาทต่อครั้ง เมื่อแยกเป็นรายโรงพยาบาล พบว่าโรงพยาบาลบางกรวยมีต้นทุนสูงสุด ต้นทุนต่อครั้งผู้มารับบริการงานส่งเสริมสุขภาพโดยเฉลี่ย 291 บาทต่อครั้ง เมื่อแยกเป็นรายโรงพยาบาลพบว่าโรงพยาบาลบางใหญ่มีต้นทุนสูงสุด
                จากผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะว่า โรงพยาบาลชุมชนควรมีการศึกษาการวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยบริการให้ครอบคลุมองค์ประกอบต้นทุนเป็นประจำทุกปี  และควรนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดนโยบายประหยัด จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำฐานข้อมูลทางด้านการเงินและการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลชุมชน เพื่อจะสามารถลดต้นทุนในแต่ละหน่วยต้นทุนได้
 
ที่มา
วารสารวิชาการ รพศ/รพท เขต 1 ปี 2544, September-December ปีที่: 3 ฉบับที่ 3 หน้า 150-159