คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกก่อนและหลังการรักษา
สุขุมาลย์ สว่างวารี
Gynecologic Oncology Unit, National Cancer Institute, Bangkok 10400
บทคัดย่อ
 
                มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับสองของโรคมะเร็งในสตรีไทย ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจำนวนมากมีอาการผิดปกติที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลจากอาการผิดปกติ มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ สภาพอารมณ์จิตใจ ความตึงเครียด การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนถึงจำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจจากอาการผิดปกติดังกล่าว รวมถึงการส่งผลต่อครอบครัวและสังคมด้วย ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระหว่างก่อนและหลังการรักษาในสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ด้วยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกมะเร็งนรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2551 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2552 จำนวน 100 ราย โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตของ EORTC-C30 และติดตามผู้ป่วยหลังการรักษาครบจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกหลังรักษาแล้วกลับมารับการตรวจอีกจำนวน 78 ราย และได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยทั้ง 78 รายอีกครั้ง โดยใช้แบบสอบถามชุดเดิม พบว่าผู้ป่วยที่อายุเฉลี่ย 52 ปี และช่วงอายุประมาณ 30-75 ปี ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดร้อยละ 45.2 ได้รับการฉายรังสีและหรือร่วมกับเคมีบำบัดร้อยละ 42.5 และได้รับการรักษาทั้งสองวิธีร้อยละ 12.3 จากการศึกษานี้พบว่า ข้อมูลจากแบบสอบถามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกก่อนการรักษามีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าผู้ป่วยหลังการรักษา โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตในส่วนของภาพรวม (global health/QoL) การเบื่ออาหารและปัญหาการเงิน ดังนั้นจากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยก่อนการรักษาให้ครอบคลุมทั้งโรคทางกายและปัจจัยต่างๆ ในเชิงคุณภาพชีวิตมีความจำเป็น
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2554, October-December ปีที่: 31 ฉบับที่ 4 หน้า 137-143
คำสำคัญ
Quality of life, Cervical cancer, คุณภาพชีวิต, มะเร็งปากมดลูก, Pre-treatment, Post-treatment, ก่อน-หลังการรักษา