ต้นทุนโรคหืดของโรงพยาบาลพรานกระต่าย
บัลลังก์ อุปพงษ์
Prankratai Hospital, Kamphangphet Province
บทคัดย่อ
 
                โรคหืดถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาวะไวการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Ambulatory care sensitive condition; ACSC) คือหากมีการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอกอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถหลีกเลี่ยงการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ การที่ผู้ป่วยโรคหืดต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาก ดังนั้นการดำเนินการ เช่น การจัดตั้งคลินิกโรคหืด การดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย น่าจะช่วยลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่งผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย และทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เพื่อให้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบริหารจัดการโรคหืดในโรงพยาบาล การศึกษานี้เป็นแบบเชิงพรรณนาย้อนหลัง อิงสถิติความชุกของโรค คำนวณต้นทุนแบบขึ้นจากล่างสู่บนในมุมมองผู้ให้บริการ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ป่วยโรคหืด (รหัส ICD-10; J45 และ J46) ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน 350 ราย จากฐานข้อมูลอิเลกทรอนิกในปีงบประมาณ 2549 ของโรงพยาบาลพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน 60 เตียง
                จากการศึกษาพบว่าต้นทุนโรคหืดประกอบด้วยค่าบริการพ่นยาขยายหลอดลมร้อยละ 28.85 ค่ายาร้อยละ 26.28 ค่าบริการผู้ป่วยในร้อยละ 25.76 ค่าตรวจผู้ป่วยนอกร้อยละ 14.64 การให้ออกซิเจนร้อยละ 2.97 และค่าภาพรังสีร้อยละ 1.50 ต้นทุนโดยรวมเท่ากับ 1,424.19 บาท/คน/ปี ต้นทุนผู้ป่วยนอกเท่ากับ 742 บาท/คน/ปี และต้นทุนผู้ป่วยในเท่ากับ 3,580 บาท/คน/ปี ผู้ป่วยโรคหืดร้อยละ 20 ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีค่ารักษาพยาบาลประมาณร้อยละ 50 ของต้นทุนโรคหืดทั้งหมด
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2550, October-December ปีที่: 1 ฉบับที่ 3-4 (Supplement 2) หน้า 481-488
คำสำคัญ
Asthma, โรคหืด, Cost of illness, Ambulatory care sensitive condition (ACSC), ต้นทุนการเจ็บป่วย, ภาวะไวการรักษาแบบผู้ป่วยนอก