ผลของเคมีบำบัดต่อสมรรถภาพหัวใจและปอด และคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย
คมกริบ หลงละเลิง*, สุมิตรา ทองประเสริฐ, อรวรรณ โพนเงิน
Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Chiang Mai University, Chiangmai, 50200 THAILAND, Email : klugklig_005@hotmail.com
บทคัดย่อ
 
อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พบในเพศชายสูงเป็นลำดับที่
หนึ่ง ขณะที่ในเพศหญิงสูงเป็นลำดับที่สาม และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดสูงเป็นลำดับที่หนึ่งทั้งในเพศชายและเพศหญิง ถึงแม้ว่าการรักษาโดยเคมีบำบัด นิยมนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แต่การศึกษาเกี่ยวกับผลของเคมีบำบัดต่อสมรรถภาพหัวใจและปอด และคุณภาพชีวิตยังมีน้อย
การศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของเคมีบำบัดต่อสมรรถภาพหัวใจและปอด และคุณภาพ
ชีวิตในผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้ รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายทั้งชนิดเซลล์เล็ก และเซลล์
ไม่เล็ก ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้มีทั้งหมด 17 คน ค่าสมรรถภาพหัวใจและปอด ประกอบด้วย
ความสามารถในการออกกำลังกาย และตัวแปรทางระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิต วัดโดยการเดิน 6 นาที
ค่าสมรรถภาพของปอดวัดโดยการประเมินสมรรถภาพปอด ส่วนการประเมินคุณภาพชีวิตวัดโดยใช้
แบบสอบถาม แบบประเมินหลักคือ QLQ C-30 และแบบประเมินที่จำเพาะเจาะจงในขณะที่ผู้ป่วยได้รับเคมี
บำบัดคือ LC-13 การประเมินทั้งหมดจะทำก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับเคมีบำบัด หลังผู้ป่วยได้รับเคมีบำบัดชุดที่ 2 และชุดที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูลค่าสมรรถภาพหัวใจและปอดโดยใช้สถิติ Repeated measured ANOVA และ
เปรียบ เทียบ ความแตกต่างโดยใช้ Bonferroni ส่วนข้อมูลคุณภาพชีวิตใช้สถิติ Friedman test และ
เปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้ Wilcoxon Signed Ranks test ผลการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 12 คน
(อายุเฉลี่ย 63 ± 8 ปี) ที่เข้าร่วมจนสิ้นสุดการวิจัย คิดเป็นร้อยละ 71 และผู้ป่วยทุกคนเป็นโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก ผลการศึกษาพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระยะทางในการเดิน 6 นาที หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเคมีบำบัดชุดที่ 4 ผลการศึกษาพบมีการเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นของหัวใจและอาการล้าของขาหลังการทดสอบการเดิน 6 นาที หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเคมีบำบัดชุดที่ 4 และชุดที่ 2 ตามลำดับ ขณะที่ไม่พบความ
เปลี่ยนแปลงของค่าตัวแปรทางระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิตอื่นๆ ผลการศึกษาไม่พบการเปลี่ยนแปลงของค่าสมรรถภาพของปอด ยกเว้น มีการเพิ่มขึ้นของค่า PEFR%predicted หลังจากได้รับเคมีบำบัด ชุดที่ 4 ส่วนคุณภาพชีวิตไม่พบการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นภาวะผมร่วงและภาวะชามือชาเท้าที่เพิ่มขึ้นหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดชุดที่ 2 และชุดที่ 4 ตามลำดับ ดังนั้นผลของเคมีบำบัดไม่ส่งผลต่อสมรรถภาพหัวใจและปอดและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายชนิดเซลล์ไม่เล็ก แต่อย่างไรก็ตามทีมแพทย์ผู้ดูแลควรให้ความระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบในการใช้การรักษาโดยเคมีบำบัด ในการศึกษาต่อไป ทีมแพทย์ผู้ดูแลอาจพิจารณาให้การรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มสมรรถภาพหัวใจและปอด และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาโดยเคมีบำบัด
 
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2554, September-December ปีที่: 33 ฉบับที่ 33 หน้า 135-147
คำสำคัญ
Exercise capacity, Six minute walk test (6MWT), Pulmonary function test (PFT), Quality of life questionnaire (EORTC QLQ C-30 and LC-13), Advanced lung cancer