ผลการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบระหว่างการฉีดยาชาเฉพาะที่กับการดมยาสลบ
รเมศ ว่องวิไลรัตน์
Department of Surgery, Somdejprajaotaksinmaharaj Hospital
บทคัดย่อ
 
                การผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบเป็นหนึ่งในการผ่าตัดที่พบบ่อยสามารถทำได้ทั้งด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ การฉีดยาชาเข้าไขสันหลังและการดมยาสลบ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเริ่มผ่าตัดไส้เลื่อนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 การศึกษาแบบวิเคราะห์ จากการทบทวนเวชระเบียนนี้เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลของผู้ป่วยผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบในเดือนมกราคม พ.ศ.2550 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ระหว่างกลุ่มฉีดยาชาเฉพาะที่ (กลุ่มศึกษา) กับกลุ่มดมยาสลบ (กลุ่มควบคุม) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของอายุ ระยะเวลาผ่าตัดและระยะเวลานอนโรงพยาบาลด้วยการทดสอบ independent t ชนิดของไส้เลื่อนและวิธีผ่าตัดด้วยการทดสอบ Fisher’s exact ภาวะโรคร่วมและภาวะแทรกซ้อนด้วยการทดสอบ chi-square ค่าใช้จ่ายโดยรวมด้วยการทดสอบ Mann Whitney U กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 เป็นผู้ป่วยกลุ่มศึกษา 69 คน กลุ่มควบคุม 65 คน อายุเฉลี่ย ชนิดของไส้เลื่อน ภาวะโรคร่วม วิธีผ่าตัด ระยะเวลานอนในโรงพยาบาลและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดไม่แตกต่างกัน (p = 0.15, 1.00, 0.21, 0.11, 0.674 และ 0.19 ตามลำดับ) ระยะเวลาผ่าตัดของกลุ่มศึกษาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (37.25/51.77, p < 0.001) และค่าใช้จ่ายของกลุ่มศึกษาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (8,765/12,367 บาท, p < 0.001) สรุปได้ว่าควรใช้วิธีฉีกยาเฉพาะที่เป็นทางเลือกแทนวิธีดมยาสลบในผู้ป่วยไส้เลื่อนธรรมดาเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกันแต่ระยะเวลาผ่าตัดสั้นกว่าและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
 
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2553, May-August ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 198-203
คำสำคัญ
General anesthesia, Inguinal herniorrhaphy, การฉีดยาชาเฉพาะที่, การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ, Local anesthesia, การดมยาสลบ