ต้นทุน รายได้ และการคืนทุนของบริการการแพทย์แผนไทย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทยจังหวัดแพร่
ชัยยา นรเดชานันท์*, ชิดชนก เรือนก้อน, วราภรณ์ ปัณณวลี, อัญชลี เพิ่มสุวรรณ
กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่
บทคัดย่อ
 
                การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของบริการการแพทย์แผนไทย องค์ประกอบต้นทุนในแง่อัตราส่วนและต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ และค่าลงทุน รายได้และการคืนทุนของบริการการแพทย์แผนไทย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทยจังหวัดแพร่ ในทัศนะของผู้ให้บริการ โดยเก็บข้อมูลย้อนหลังในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2546 ทำการแบ่งหน่วยต้นทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และกลุ่มกิจกรรมบริการ ได้แก่ งานบริการผู้ป่วย และงานบริการส่งเสริมสุขภาพ การจัดสรรต้นทุนจากกลุ่มกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปยังกลุ่มกิจกรรมบริการ โดยวิธีการจัดสรรต้นทุนแบบสองครั้งตามเกณฑ์การจัดสรรต้นทุนที่เหมาะสมในแต่ละกิจกรรม
                ผลการศึกษา พบว่า ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทยจังหวัดแพร่ มีต้นทุนรวมทั้งสิ้น 1,946,742.60 บาท ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มกิจกรรมบริการคิดเป็นร้อยละ 50.25 โดยมีอัตราส่วนของต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ และค่าลงทุน เท่ากับ 10.86 : 2.16 : 1 อัตราส่วนของต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ และค่าลงทุนของกิจกรรมงานบริการผู้ป่วย และกิจกรรมงานบริการส่งเสริมสุขภาพเท่ากับ 10.58 : 2.20 : 1 และ 12.64 : 1.94 : 1 ตามลำดับ ต้นทุนต่อหน่วยของบริการการแพทย์แผนไทยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 121.05 บาทต่อครั้ง  แยกเป็นต้นทุนต่อครั้งของงานบริการผู้ป่วยในกิจกรรมบริการจ่ายยาสมุนไพร นวดไทย นวดฝ่าเท้า ประคบสมุนไพร และอบสมุนไพร มีค่าเท่ากับ 165.47 บาท, 142.83 บาท, 82.00 บาท, 79.06 บาท และ 93.24 บาท ตามลำดับ  โดยมีค่าเฉลี่ยของทุกกิจกรรมบริการในงานบริการผู้ป่วย เท่ากับ 119.94 บาท ต้นทุนต่อครั้งของงานบริการส่งเสริมสุขภาพในกิจกรรมบริการจ่ายยาสมุนไพร นวดไทย นวดฝ่าเท้า ประคบสมุนไพร และอบสมุนไพร เท่ากับ 253.21 บาท, 124.11 บาท, 101.93 บาท, 162.28 บาท และ 182.53 บาท ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยของทุกกิจกรรมบริการในงานบริการส่งเสริมสุขภาพ เท่ากับ 127.96 บาท
                สำหรับการวิเคราะห์ความไวของต้นทุนพบว่า เมื่อทำการลดองค์ประกอบของต้นทุนทีละองค์ประกอบลงร้อยละ 10-50 ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงได้ร้อยละ 1-40 ในขณะที่การเพิ่มปริมาณบริการขึ้นร้อยละ 10-50 ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงได้ร้อยละ 6-24 ในแง่ของรายได้จากการให้บริการของศูนย์เป็นรายได้จริง ณ จุดเก็บเงิน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,356,784 บาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมงานบริการผู้ป่วย คิดเป็นร้อยละ 85.70 โดยมีการคืนทุนของต้นทุนรวมทั้งหมด การคืนทุนของต้นทุนดำเนินการเฉพาะค่าวัสดุ คิดเป็นร้อยละ 121.06, 129.44 และ 875.77 ตามลำดับ
                ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทยจังหวัดแพร่ สามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่หากต้องเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำเป็นต้องพิจารณาหาแนวทางในการลดต้นทุนบริการการแพทย์แผนไทยเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานของผู้บริหารในการวางแผนการบริหารทรัพยากรขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2548, October-January ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 3-16
คำสำคัญ
Thai Traditional Health Promotion Center, Thai traditional medicine, Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย, แพทย์แผนไทย