ผลลัพธ์ทางคลินิกและคุณภาพชีวิตของการบริบาลทางเภสัชกรรมก่อนพบแพทย์ในคลินิกโรคหืด
ภาณุวัฒน์ แสงพุ่ม, นันทลักษณ์ สถาพรนานนท์*, นลินี พูลทรัพย์
Faculty of Pharmacy, Silpakorn University; E-mail: nuntalux@su.ac.th
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลของการให้บริบาลทางเภสัชกรรมก่อนพบแพทย์ในด้านผลลัพธ์ทางคลินิก (ได้แก่ สมรรถภาพปอด ระดับการควบคุมโรค การเข้ารับรักษาในห้องฉุกเฉินและการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล) และผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยนอกโรคหืดที่มารับบริการที่คลินิกโรคหืด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า วิธีการศึกษา: แบ่งผู้ป่วยทั้งหมด 70 คนโดยวิธีสุ่ม ออกเป็นกลุ่มศึกษาที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมและกลุ่มควบคุม กลุ่มศึกษาจะได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมก่อนพบแพทย์ทั้งหมด 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 2 เดือน กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม ผลลัพธ์จะประเมินหลังจากผู้ป่วยพบเภสัชกรในครั้งที่ 2 แล้วเป็นเวลา 2 เดือน วัดคุณภาพชีวิตโดยแบบวัดคุณภาพชีวิต MiniAQLQ ผลการศึกษา: จำนวนผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มคือ 35 คน ผลลัพธ์ทางคลินิกของกลุ่มที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ จากค่า peak expiratory flow rate (PEFR) (323.4 ± 67.9 และ 282.7 ± 97.3 ลิตร/นาทีตามลำดับ, P = 0.046) และค่าร้อยละของค่ามาตรฐาน (% predicted PEFR) (ร้อยละ 81.5 ± 20.2% และ 71.9 ± 16.4% ตามลำดับ, P = 0.034) อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของจำนวนผู้ป่วยในแต่ละระดับของการควบคุมโรคหืดของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจำนวนของผู้ป่วยที่มีระดับการควบคุมโรคอยู่
ในระดับควบคุมได้ (controlled) ในกลุ่มที่ศึกษาจะมากกว่ากลุ่มควบคุม การเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินและการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน คะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมของกลุ่มศึกษาดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (5.6 ± 1.0 และ 5.1 ± 0.9 คะแนน ตามลำดับ, P = 0.048) สรุป: การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมก่อนพบแพทย์ในคลินิกโรคหืดของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าส่งผลดีต่อผู้ป่วยทั้งด้านผลลัพธ์ทางคลินิกและคุณภาพชีวิต
 
ที่มา
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร) ปี 2553, January-March ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 23-30
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, Asthma, โรคหืด, Clinical Outcome, ผลลัพธ์ทางคลินิก, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, MiniAQLQ, Health related quality of life