ภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายน้ำตาลหลังอาหาร 1 ชั่วโมงกับน้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
อภิวัฒน์ ยาประเสริฐ*, ทิพาพร ธาระวานิช, จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์, ณัฎฐิณี จรัสเจริญวิทยา, พิชญ์วรา พันธุ์พิทย์แพทย์, สุธน พรธิสาร, ทิพาพร ธาระวานิช, วิราภรณ์ ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์, จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์, ต้องตา นันทโกมล
Internal Medicine Resident, Department of Medicine, Faculty of Medicine, Thammasat University
บทคัดย่อ
 
บทนำ: โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกแรกเกิด การรักษาทำได้โดยควบคุมอาหารหรือฉีดอินซูลิน การติดตามการรักษาคือการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วซึ่งแนะนำให้เจาะหลังอาหาร 1 หรือ 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดียังไม่มีหลักฐานเพียงพอถึงเวลาที่เหมาะสมในการเจาะเลือด เพื่อติดตามการรักษาและการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย
 
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยรวมทั้งในมารดาและทารกแรกเกิดในกลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร
วิธีการวิจัย: การศึกษาแบบสุ่มแบบไปข้างหน้า คัดกรองผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์จำนวน 106 คน ผู้ที่คัดเข้าแบ่งเป็นกลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมงหลังอาหาร ≤ 140 มก. ต่อ ดล. (26 คน) และกลุ่มระดับน้ำตาลที่ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร ≤ 120 มก. ต่อ ดล. (20 คน) มีการประเมินการรักษาโดยอายุรแพทย์ สูติแพทย์ พยาบาล โภชนากร และมีการตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์เป็นระยะ มีการบันทึกระดับน้ำตาล อัตราการใช้อินซูลินและปริมาณอินซูลินที่ฉีด อายุครรภ์ที่คลอดวิธีการคลอดและภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารกแรกเกิด
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาอายุเฉลี่ย 33.43± 4.90 ปี อายุครรภ์ที่วินิจฉัยโรค 24.07±5.50 สัปดาห์ ฮีโมโกลบินเอวันซีเฉลี่ยร้อยละ 5.15 ± 0.52 กลุ่มที่รักษาโดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมงและ 2 ชั่วโมง มีระดับน้ำตาลเฉลี่ย 126.15±9.33 และ 111.25±11.19 มก.ต่อ ดล. ตามลำดับ อัตราการฉีดอินซูลิน (0.13±0.17 ยูนิต ต่อ กก. และ 0.14±0.21 ยูนิต ต่อ กก.; ค่าพี = 0.39) อายุครรภ์ที่คลอด (37.06±1.53 สัปดาห์ และ 38.24±0.77 สัปดาห์; ค่าพี = 0.09) การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง (ร้อยละ 71 และร้อยละ 61.90; ค่าพี = 0.30) น้ำหนักทารกแรกเกิด (3038.80±640.52 กรัม และ 2961.90±463.44 กรัม; ค่าพี = 0.69) ภาวะแทรกซ้อนในมารดา (ร้อยละ 8 และร้อยละ 10; ค่าพี = 0.86) และภาวะแทรกซ้อนในทารกแรกเกิด (ร้อยละ 24 และร้อยละ 5 ตามลำดับ; ค่าพี = 0.07) ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่ม
สรุป: การรักษาผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์โดยใช้เป้าหมายระดับน้ำตาลปลายนิ้วหลังอาหารที่ 1 หรือ 2 ชั่วโมง ไม่มีความแตกต่างกันในแง่อัตราการฉีดอินซูลิน ปริมาณการใช้อินซูลิน อายุครรภ์ที่คลอด การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง น้ำหนักทารกแรกเกิด ภาวะแทรกซ้อนในมารดา ภาวะแทรกซ้อนในทารกแรกเกิด
 
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2554, July-September ปีที่: 11 ฉบับที่ 3 หน้า 390-400
คำสำคัญ
complication, ภาวะแทรกซ้อน, Gestational Diabetes Mellitus, Postprandial glycemic, เบาหวานในการตั้งครรภ์, ระดับน้ำตาลหลังอาหาร