ต้นทุนการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชวิตก่อนวัยอันสมควรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ชนิดา เลิศพิทักษ์พงศ์*, ประพักตร์ เนรมิตพิทักษ์กุล, มนทรัตน์ ถาวรเจริญทรัพย์, ยศ ตีระวัฒนานนท์, อุษา ฉายเกล็ดแก้ว
Health Intervention and Technology Assessment Program (HITAP), Ministry of Public Health
บทคัดย่อ
 
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียผลิตภาพจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีทุนมนุษย์ (human capital approach) ซึ่งต้นทุนดังกล่าวมีค่าเท่ากับผลคูณของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับค่าแรงเฉลี่ยตลอด อายุขัยหากมีชีวิตอยู่จำแนกตามเพศและอายุโดยปรับลดค่าของเงินด้วยอัตราปรับลด (discount rate) ร้อยละ 3 ทั้งนี้ค่าแรงเฉลี่ยตลอดอายุขัยหากมีชีวิตอยู่จำแนกตามเพศและอายุได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี พ.ศ. 2549 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยที่จะมี  ชิวิตอยู่ต่อและจำนวนผู้เสียชีวิตได้จากคณะทำงานภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง
                การศึกษาพบว่าใน พ.ศ. 2549 มีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 39,459 คนโดยจำแนกเป็นเพศชาย 33,493 คนและเพศหญิง 5,966 คน ก่อให้เกิดจำนวนปีที่สูญเสียจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรรวมเท่ากับ 1,390,899 ปี จำแนกเป็นจากเพศชาย 1,164,552 ปี และเพศหญิง 226,348 ปี คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียผลิตภาพรวมทั้งสิ้น 104,128 ล้านบาท โดยมาจากเพศชาย 95,804 ล้านบาทและ เพศหญิง 8,324 ล้านบาท โรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพเป็นมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกในเพศชายได้แก่ โรคเอดส ์ (36,277 ล้านบาท) อุบัติเหตุจราจรทางบก (26,989 ล้านบาท) โรคตับแข็ง (13,044 ล้านบาท) มะเร็งตับ (11,836 ล้านบาท) และภาวะติดแอลกอฮอล์ (2,294 ล้านบาท) ตามลำดับ ขณะที่เพศหญิงได้แก่ โรคเอดส ์ (3,580 ล้านบาท) อุบัติเหตุจราจรทางบก (2,796 ล้านบาท) มะเร็งตับ (706 ล้านบาท) โรคตับแข็ง (616 ล้านบาท) และมะเร็งเต้านม (175 ล้านบาท) ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายหรือมาตรการในการลดผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ต่อไป                  
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2552, May-June ปีที่: 18 ฉบับที่ 3 หน้า 322-332
คำสำคัญ
Alcohol, Cost, Productivity loss, Economic, Premature mortality, Human capital approach