ประสิทธิผลของอุปกรณ์ประคองต้นขา Siriraj Leg Lock ที่มีต่ออาการปวดหลังในผู้ป่วยภายหลังทำหัตถการขยายหลอดเลือดหัวใจ
ดำรัส ตรีสุโกศล, ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน, พิชชุดา วิรัชพินทุ, วิริยา วารี, สุดารัตน์ บุญเลิศ, สุวัจชัย พรรัตนรังสี*, อนุวัฒน์ ดวงประทีป
Division of Cardiology, Department of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand.
บทคัดย่อ
 
ภูมิหลัง: การขยายหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) ปัญหา สำคัญที่พบได้บ่อยๆ หลังทำหัตถการคืออาการปวดหลัง เนื่องจากภายหลังทำหัตถการผู้ป่วยจะถูกจำกัดการ เคลื่อนไหว โดยต้องนอนราบห้ามงอขาเป็นเวลา 10 ชั่วโมงขึ้นไปทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไม่สุขสบายเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยบางรายมีความวิตกกังวลมาก ไม่กล้าขยับตัวเพราะกลัวว่าขาจะงอและทำให้เกิดภาวะเลือดออกจากแผลที่ทำหัตถการ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและอันตรายมากจากปัญหาดังกล่าวนี้ผู้ศึกษาจึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ประคองต้นขา ‘Siriraj Leg Lock’ (SLL) ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขยับตัวหรือพลิกตะแคงตัวได้สะดวกขึ้นโดยไม่มีผลกระทบต่อแผลที่ทำหัตถการ ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายขึ้นจากการไม่ต้องถูกจำกัดการ เคลื่อนไหวส่งผลให้อาการปวดหลังลดลง
วัตถุประสงค์: การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยแบบทดลอง (Experimental Study) เพื่อศึกษาประสิทธิผล ของอุปกรณ์ประคองต้นขา SLL ที่มีต่ออาการปวดหลัง ในผู้ป่วยภายหลังทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ ร่วมกับประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการใช้อุปกรณ์นี้ และเปรียบเทียบภาวะเลือดออกภายนอก (bleeding) หรือมีการเกิดลิ่มเลือดใต้ผิวหนัง (hematoma) บริเวณตำแหน่งที่แทงเข็มทำหัตถการระหว่างผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ประคองต้นขา SLL (กลุ่มทดลอง) กับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ประคองต้นขา SLL (กลุ่มควบคุม)
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบสุ่มโดยใช้วิธี Randomized Controlled Trial (RCT) โดยกลุ่มควบคุมจะได้รับการดูแลตามปกติที่หอผู้ป่วยปฏิบัติ (standard care group) ส่วนกลุ่มทดลองจะได้รับการใส่อุปกรณ์ประคองต้นขา SLL เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพลิกตะแคงตัวได้เองทันทีภายหลังทำหัตถการเสร็จ (Intervention group) กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยภายหลังได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและ/หรือขดลวดค้ำยัน (PCI) ที่มารับการรักษา ณ หอผู้ป่วยหลังทำหัตถการศูนย์โรคหัวใจฯ ชั้น 8 โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 100 ราย (กลุ่มควบคุม 49 ราย และกลุ่มทดลอง 51 ราย) ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
ผลการศึกษา: พบว่าระดับคะแนนความปวดหลังสูงที่สุดและค่าเฉลี่ยระดับคะแนนปวดหลังในกลุ่มทดลองน้อยกว่า กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) หลังจากกลุ่มทดลองได้ใช้อุปกรณ์ ประคองต้นขา SLL แล้วพบว่า ระดับคะแนนความปวดหลังลดลง ในขณะที่กลุ่มควบคุมระดับคะแนนความปวดหลังเพิ่มจากเมื่อแรกรับ อุบัติการณ์เกิด hematoma ในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.114) กลุ่มทดลองที่ใส่ อุปกรณ์ประคองต้นขา SLL สามารถพลิกตะแคงตัวได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้อาการปวดหลังลดลง ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย มากขึ้นโดยไม่มีผลกระทบต่อแผลที่ทำหัตถการและความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการใช้อุปกรณ์ประคองต้นขา SLLที่ได้รับเฉลี่ย 4.3 (จากมาตรวัด 1-5) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เคยมีประสบการณ์การรักษาแบบนี้มาก่อน เมื่อมาครั้งนี้และได้รับการใส่ SLL จะยิ่งแสดงความรู้สึกพึงพอใจมากพร้อมทั้งแสดงความต้องการใส่หากต้องมารับการ รักษาอีก
สรุป: การใช้ SLL ในผู้ป่วยที่ได้รับการทำหัตถการขยายหลอดเลือดหัวใจทางขาหนีบและทำการกดแผลเพื่อระงับเลือดนั้นสามารถช่วยลดอาการปวดหลังและเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยโดยไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเกิดผลแทรกซ้อน โดยเฉพาะเลือดออกหรือการเกิดลิ่มเลือดใต้ผิวหนัง (hematoma)
 
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2553, January ปีที่: 93 ฉบับที่ Suppl 1 หน้า S35-S42
คำสำคัญ
Back pain, Percutaneous Coronary Intervention (PCI), Siriraj Leg Lock (SLL), Brace