การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้ยา Topiramate เปรียบเทียบกับ Sodium valproate ในการรักษาผู้ป่วยใหม่โรคลมชัก
อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ*, Rungsun Chaisewikul, อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ, รังสรรค์ ชัยเสวิกุล
Institute of Medical Research and Technology Assessment, Department of Medical Services, Ministry of Public Health
บทคัดย่อ
 
                การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและประสิทธิผลของการใช้ยา Topiramate และยา Sodium valproate ในการรักษาผู้ป่วยใหม่โรคลมชักไม่จำกัดชนิดในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ วิธีการศึกษาแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) จัดทำลำดับโอกาสที่น่าจะเป็นของประสิทธิผลการรักษาและผลแทรกซ้อนของยา (2) จัดทำแผนภูมิการตัดสินใจ (3) ประมาณการต้นทุนค่าใช้จ่าย และ (4) วิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล ค่าใช้จ่ายใช้ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช โดยวิเคราะห์ความไว (Sensitivity analysis) สำหรับอัตราส่วนลด (Discount rate) และค่าชดเชย ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุน-ประสิทธิผลในการควบคุมการชักโดยปราศจากผลแทรกซ้อนจากยาในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพของยา Topiramate มากกว่ายา Sodium valproate 1.7 เท่า การวิเคราะห์ความไวแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนลดและค่าชดเชยสำหรับผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากยา Sodium valproate ทำให้ความแตกต่างของอัตราต้นทุน-ประสิทธิผลของ Sodium valproate และ Topiramate ลดลง ซึ่งค่าชดเชยที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราต้นทุน-ประสิทธิผลของ Sodium Valproate เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพด้านต้นทุน-ผลการรักษาพบว่า Sodium valproate มีความเหมาะสมในการรักษาโรคลมชักมากกว่า Topiramate แต่ Sodium valproate ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคลมชักที่ไม่ตอบสนอง หรือผู้ที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยา Sodium valproate อาทิ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ศีรษะล้าน เป็นต้น ยา Topiramate จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนแม้ว่าจะมีผลข้างเคียง อาทิ นิ่วที่ไต การบกพร่องด้านสติปัญญาและการรับรู้ เป็นต้น
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2551, April-June ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 133-140
คำสำคัญ
Epilepsy, cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, โรคลมชัก