การเปลี่ยนแปลงระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลศิริราช
Teerada Ploypetch*, ปิยะภัทร เดชพระธรรม
Department of Rehabilitation Medicine, 9th floor Srisungwan Building, Siriraj Hospital, Bangkok, Thailand
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ก่อนและหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลและหาปัจจัยที่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงระดับคุณภาพชีวิต
วัสดุและวิธีการ: ศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนของผู้ป่วย 200 ราย ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงปี พ.ศ. 2549 ถึง 2552 โดยเก็บข้อมูลพื้นฐาน ระดับความสามารถประเมินด้วย Modified Barthel Index ระดับคุณภาพชีวิตประเมินด้วยเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (26 หัวข้อ) (WHOQOL-BREF-THAI) และนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับคุณภาพชีวิต ก่อนและหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเพศชาย 117 คน (ร้อยละ 58.5) หญิง 83 คน (ร้อยละ 41.5) อายุเฉลี่ย 55.6 + 17.9 ปี โดยสาเหตุของความพิการ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง 112 ราย (ร้อยละ 56) ไขสันหลังบาดเจ็บ 54 ราย (ร้อยละ 27) และสาเหตุอื่น ๆ 34 ราย (ร้อยละ 17) ภายหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาล ผู้ป่วย 164 ราย (ร้อยละ 82) มีระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) จากคะแนน WHOQOL-BREF-THAI ก่อนเข้ารักษา 81.3 ± 11.2 และหลังการรักษา 85.5 ± 11 คือคะแนนเพิ่มขึ้น 4.2 ±  8 โดยพบว่าคุณภาพชีวิตด้านกาย ใจ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ด้านสังคมไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการไม่เพิ่มขึ้นของระดับคุณภาพชีวิตหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่ การไม่มีญาติเป็นผู้ดูแลหลัก (OR 5.8, 95% CI 2.1-16) และการมีข้อยึดติดก่อนเข้านอนโรงพยาบาล (OR 4.1, 95% CI 1.7-9.9)
สรุป: การฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลช่วยเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตในผู้พิการจากเหตุต่าง ๆ ได้ โดยการมีข้อยึดติดก่อนเข้านอนโรงพยาบาล และการไม่มีญาติเป็นผู้ดูแลหลัก สัมพันธ์กับการไม่เพิ่มขึ้นของระดับคุณภาพชีวิต
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2554, October ปีที่: 94 ฉบับที่ 10 หน้า 1245-1251
คำสำคัญ
Quality of life, WHOQOL-BREF-THAI, DISABILITY, Intensive inpatient rehabilitation