การควบคุมความปวดในการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องทางนรีเวชโดยใช้/ไม่ใช้ยาฉีดพารีคอกซิบโซเดียมก่อนการผ่าตัด: การศึกษาแบบสุ่มอิสระ
Khanitta Traipak, Chadakarn Phaloprakarn, สาวินี รัชชานนท์*
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine Vajira Hospital, University of Bangkok Metropolis, 681 Samsen Road, Dusit District, Bangkok 10300, Thailand
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการบริหารยาฉีดพารีคอกซิบโซเดียม ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดปวดภายหลังการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องทางนรีเวช
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาไปข้างหน้าสุ่มอิสระปิดบังสองทางในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องส่องช่องท้องทางนรีเวช 268 ราย ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ถูกสุ่มอิสระแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับยาพารีคอกซิบโซเดียม 40 มิลลิกรัม (กลุ่มศึกษา 133 ราย) หรือกลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือ (กลุ่มควบคุม 135 ราย) ทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 30 นาทีก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยได้รับการประเมินคะแนนความปวดทุก 2 ชั่วโมง ใน 8 ชั่วโมงแรก และทุก 4 ชั่วโมงจนครบ 24 ชั่วโมง ด้วยการระบุระดับคะแนนด้วยวาจา (verbal rating scale) บันทึกปริมาณยามีพีริดีนทั้งหมดที่ได้รับภายใน 24 ชั่วโมง และผลข้างเคียงที่ตรงประเด็นกับยาพารีคอกซิบ
ผลการศึกษา: ค่าเฉลี่ยคะแนนความปวดในทุกช่วงเวลาประเมินในกลุ่มศึกษา ต่ำกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่าง
ไม่มีนัยสำคัญ (p = 0.106) ค่าเฉลี่ยปริมาณยามีพีริดีนที่ได้รับภายใน 24 ชั่วโมง หลังผ่าตัดในกลุ่มศึกษาน้อยกว่าในกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ (26.3 ± 28.1 และ 39.1 ± 34.6 มิลลิกรัม ตามลำดับ p = 0.001) สัดส่วนของผู้ที่ต้องการยามีพีริดีนในกลุ่มศึกษาน้อยกว่าในกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ (58.6% และ 70.3% ตามลำดับ p = 0.045) ไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรงในทั้งสองกลุ่ม
สรุป: การบริหารยาฉีดพารีคอกซิบโซเดียมก่อนการผ่าตัดช่วยลดความต้องการ และปริมาณของยามีพีริดีนภายหลังการผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่คะแนนความปวดลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรง
 
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2554, October ปีที่: 94 ฉบับที่ 10 หน้า 1164-1168
คำสำคัญ
Preemptive analgesia, Parecoxib sodium, Laparoscopic gynecologic surgery