ประสิทธิผลการจัดกิจกรรมสุขศึกษาที่เน้นการให้กำลังใจเพื่อพัฒนา พฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยวัณโรคปอด ในระยะเข้มข้นของการรักษา
พรศักดิ์ โคตรวงษ์, เพ็ญศรี ปัญญาตั้งสกุล*
Turberculosis Division, Department of Communicable Diseases Control, Ministry of Public Health
บทคัดย่อ
วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขมานาน และในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรง คุกคามสุขภาพอนามัยของประชากรโลกอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อภาวะสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แนวทางการควบคุมวัณโรคที่สำคัญ คือ การตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคที่แหล่งแพร่เชื้อ คือ ผู้ป่วยวัณโรคเสมหะพบเชื้อวัณโรค อัตราการยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วย เป็นหัวใจสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จของการควบคุมวัณโรคแนวใหม่ ผู้ป่วยวัณโรคมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน คนใกล้ชิดและลดปัญหาวัณโรคดื้อยา                การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ตรวจเสมหะพบเชื้อซึ่งมารับบริการ ณ สถานตรวจโรคปอดกรุงเทพฯ กองวัณโรคในระยะเข้มข้นของการรักษาในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2543 ถึงมกราคม 2544 กระบวนการวิจัยประกอบด้วย การจัดกิจกรรมสุขศึกษาโดยเน้นการให้กำลังใจเป็นหลัก กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยวัณโรคตรวจเสมหะพบเชื้อ อายุระหว่าง 15-60 ปี ทั้งชายและหญิง จำนวน 113 คน สุ่มแบบกลุ่มอย่างง่ายตามวันที่มารับบริการ เป็นกลุ่มทดลอง 53 คนและกลุ่มเปรียบเทียบ 60 คน เก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้แบบสอบถามตอบด้วยตนเองและข้อมูลจากทะเบียนประวัติผู้ป่วย หลังการทดลองสิ้นสุด มีผู้ป่วยคงเหลือในกลุ่มทดลอง 49 คน ในกลุ่มเปรียบเทียบ 47 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Student’s t-test และ Paired Samples t-test                 ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยวัณโรคตรวจเสมหะพบเชื้อที่เข้าร่วมกิจกรรมสุขศึกษาที่เน้นการให้กำลังใจ มีการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในด้านการปฏิบัติตามแผนการรักษาถูกต้องครบถ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นของอัตราเสมหะเปลี่ยนจากบวกเป็นลบในระยะเข้มข้นของการรักษาที่สูงถึงร้อยละ 77 ในขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบสูงเพียงร้อยละ 61 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมสุขศึกษาที่เน้นการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ สามารถพัฒนาพฤติกรรมการปฏิบัติตามแผนการรักษาวัณโรคได้ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานควบคุมวัณโรค ซึ่งกิจกรรมสุขศึกษาดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ ที่ให้บริการตรวจรักษาวัณโรคได้
ที่มา
วารสารวัณโรค โรคทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต ปี 2546, มกราคม-มีนาคม ปีที่: 24 ฉบับที่ 1 หน้า 69-78