ผลทางคลินิกของสารสกัดจากบัวบกในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า
วีรยะ เภาเจริญ
Department of Surgery, Faculty of Medicine, Thammasat University, Klongluang, Pathumthani 12120, Thailand
บทคัดย่อ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของสารสกัดจากบัวบกชนิดรับประทานที่มีต่อการหายของแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน และศึกษาผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึงประสงค์ของสารสกัดที่ให้รับประทาน
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษา แบบสุ่มไปข้างหน้าโดยผู้ป่วย 200 คน ที่ได้รับการรักษาในภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อบ่งชี้ในการคัดเลือกออกจากการศึกษาได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยาสตีรอยด์ชนิดรับประทาน อายุมากกว่า 80 ปี หรือน้อยกว่า 18 ปี ระดับโปรตีนในเลือดน้อยกว่า 3.0 กรัมต่อเดซิลิตร มีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันโดยยังไม่ได้รับการแก้ไข มีการติดเชื้อที่เท้าที่ยังควบคุมไม่ได้ข้อบ่งชี้ในการยุติการศึกษาได้แก่ ผู้ป่วยปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการต่อไปแผลติดเชื้อแผลหายด้วยวิธีการเย็บหรือวิธีการหดตัวหายเอง ผู้ป่วยจะถูกสุ่มเพื่อแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม เอ คือกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากบัวบกและกลุ่มบีคือกลุ่มที่ได้ยาหลอก ผู้ป่วยจะได้รับยาเป็นแคปซูล รับประทานครั้งละ 2 แคปซูลหลังอาหาร 3 เวลา โดยมีสารออกฤทธิ์ของบัวบก 50 มิลลิกรัม ในแคปซูลของกลุ่ม เอ ส่วนกลุ่มบีจะเป็นยาหลอกทั้งสองกลุ่มจะได้รับการรักษาเรื่องเบาหวาน และเรื่องวิธีการทำแผลเหมือนกัน ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการประเมินการหายของแผลโดยดูจากการหดตัวของแผล และปริมาตรแผลที่เปลี่ยนแปลงไปร่วมกับดูการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อบริเวณแผลนอกจากนี้ยังได้รับการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ของยาที่ได้รับ
ผลการศึกษา: มีการหายของแผลที่เร็วขึ้นในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากบัวบก และมีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่แผลผิดปกติน้อยลงในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากบัวบก ไม่มีกลุ่มใดที่เกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการอันไม่พึงประสงค์
สรุป: สารสกัดจากบัวบกชนิดรับประทานสามารถช่วยทำให้แผลในผู้ป่วยเบาหวานหายเร็วขึ้นในขณะที่จะก่อให้เกิดแผลเป็นชนิดนูนน้อยลง โดยที่ไม่พบผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึงประสงค์
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2553, December ปีที่: 93 ฉบับที่ Suppl 7 หน้า S166-S170
คำสำคัญ
Wound healing, Centella asiatica, Diabetic wound