ประสิทธิผลของโปรแกรมการคัดกรองและให้คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในร้านยามหาวิทยาลัย สาขาเทศบาล
พีรยา สมสะอาด, พิราญาณ์ วงศ์พัฒนาธนเดช*, พรชนก ศรีมงคล
Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University
บทคัดย่อ
 
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงและประเมินผลการให้คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพในผู้ที่มีความเสี่ยง สุ่มแบ่งเป็นกลุ่มทดลองได้รับคำแนะนำและกลุ่มควบคุมไม่ได้รับคำแนะนำ ติดตามเป็นเวลา 2 เดือน โดยดูผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และคะแนนแบบทดสอบความรู้ จากการคัดกรอง 367 คน พบผู้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานร้อยละ 6.56 และผู้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 33.75 และผู้เสี่ยงทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร้อยละ 13.75 จากการติดตามผู้ที่เสี่ยงโรคเบาหวาน 31 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 15 คน กลุ่มควบคุม 16 คน และผู้ที่เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง 49 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 24 คน และกลุ่มควบคุม 25 คน ภายหลังให้คำแนะนำ พบว่า กลุ่มทดลองที่เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงมีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์และการออกกำลังกายดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p-value <0.05) กลุ่มทดลองที่เสี่ยงโรคเบาหวานมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเค็มและดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p-value < 0.05) และกลุ่มทดลองมีระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p-value < 0.05) แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองในทั้งสองกลุ่มเสี่ยง พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม และกลุ่มทดลองมีผลคะแนนแบบทดสอบความรู้ภายหลังการให้คำแนะนำมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p-value < 0.05) แสดงให้เห็นว่า การคัดกรองและให้คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงตระหนักในการปรับพฤติกรรมและส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตลดลง
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2554, July-September ปีที่: 5 ฉบับที่ 3 หน้า 344-354
คำสำคัญ
screening, การคัดกรอง, Health promotion, Prediabetes individuals, Prehypertension individuals, การให้คำแนะนำส่งเสริมสุขภาพ, ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน, ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง