การเปรียบเทียบผลการรักษาริ้วรอยบนใบหน้าในคนเชื้อสายเอเชียด้วยคลื่นความถี่วิทยุระบบแบ่งส่วนที่ระดับพลังงานเฉลี่ยต่างกัน
กอบกาญจน์ พงศ์ไพโรจน์*, นภดล นพคุณ
Division of Dermatology, Department of Medicine, Faculty of Medicine, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Bangkok, Thailand
บทคัดย่อ
 
ที่มา : การรักษาริ้วรอยบนใบหน้ามีหลายวิธี คลื่นความถี่วิทยุระบบแบ่งส่วนเป็นการรักษาที่พัฒนาขึ้นใหม่  การศึกษาทางพยาธิวิทยาพบว่าผลที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อมีความแตกต่างกันขึ้นกับพารามิเตอร์ที่ใช้  แต่การศึกษาที่เปรียบเทียบผลการรักษาทางคลินิกเมื่อให้การรักษาด้วยระดับพลังงานต่างกันยังมีน้อย
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของคลื่นความถี่วิทยุระบบแบ่งส่วนในการลดริ้วรอยบนใบหน้าของคนเชื้อสายเอเชีย  เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยระดับพลังงานเฉลี่ยมากกว่าและน้อยกว่า 14.5 จูลต่อการรักษา 3 ครั้ง
วิธีการศึกษา :  อาสาสมัคร 28 ราย ที่มีริ้วรอยบนใบหน้าจะได้รับการสุ่มเพื่อรักษาครึ่งซีกของใบหน้าด้วยคลื่นความถี่วิทยุระบบแบ่งส่วนจำนวน   3  ครั้ง   ทุก  4 สัปดาห์   โดยใช้ใบหน้าอีกด้านเป็นตัวควบคุม   ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการรักษาด้วยระดับพลังงานที่ทำให้เกิดความบวมแดงในระดับปานกลางที่ 5 นาทีหลังทดสอบ  มีการตรวจติดตามโดยวัดริ้วรอยด้วยเครื่อง  Visioscan  และบันทึกภาพด้วยเครื่องบันทึกภาพ VISIA   ที่ก่อนให้การรักษาและหลังเริ่มการรักษาเดือนที่ 3,5 และ 8 ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกของริ้วรอยโดยแพทย์ผิวหนัง 3 ท่านเปรียบเทียบรูปถ่ายระหว่างก่อนการรักษาและเมื่อสิ้นสุดการรักษา  และผู้ป่วยประเมินความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยของตนเทียบกับก่อนรักษา
ผลการศึกษา :  ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยระดับพลังงานเฉลี่ยมากกว่าและน้อยกว่า 14.5 จูล มีริ้วรอยบนใบหน้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ทั้งจากการวัดด้วยเครื่อง Visioscan (p value  = 0.001, Paired T-test) และจากการประเมินโดยผู้ป่วย (p value = 0.001 และ 0.011 ตามลำดับ, Wilcoxon-signed ranks test)  แต่การประเมินทางคลินิกโดยแพทย์ผิวหนัง 3 ท่านประเมินภาพถ่ายของผู้เข้าร่วมวิจัย ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (p value = 0.317, Wilcoxon-signed ranks test)  เมื่อเปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยระดับพลังงานเฉลี่ยที่มากกว่าและน้อยกว่า 14.5 จูล ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทั้งจากการประเมินด้วยเครื่อง Visioscan, Fitzpatrick wrinkle severity scores และความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่ประเมินโดยแพทย์  รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่ประเมินโดยผู้ป่วย (p value = 0.773, 0.595, 0.418 และ 0.736 ตามลำดับ, ANCOVA)
สรุปผล : การเปรียบเทียบผลการรักษาริ้วรอยบนใบหน้าในคนเชื้อสายเอเชียด้วยคลื่นความถี่วิทยุระบบแบ่งส่วนโดยใช้ระดับพลังงานเฉลี่ยต่างกัน ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการรักษาด้วยระดับพลังงานเฉลี่ยมากกว่าหรือน้อยกว่า 14.5 จูลต่อการรักษา 3 ครั้ง ที่ 6 เดือนหลังการรักษา
 
ที่มา
วารสารโรคผิวหนัง ปี 2553, October-December ปีที่: 26 ฉบับที่ 4 หน้า 183-198
คำสำคัญ
Fractional radiofrequency, Wrinkles, Asians, คลื่นความถี่วิทยุระบบแบ่งส่วน, ริ้วรอย, คนเอเชีย