ผลของการยืดกล้ามเนื้อคอในขณะพักการทำงานต่ออาการปวดคอและการเปลี่ยนแปลงของ surface EMG median frequency ในกลุ่มพนักงานสำนักงาน
Atipon Methatip*, พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์
นิสิตปริญญาโทหลักสูตรเวชศาสตร์การกีฬา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
 
บทนำ: อาการปวดคอเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้อย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลก ส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการรักษาและป้องกันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงและเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายในขณะพักการทำงานในกลุ่มพนักงานสำนักงานเพศหญิงเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ระหว่างการยืดกล้ามเนื้อคอและการหายใจลึกเพื่อการผ่อนคลายต่อระดับของอาการปวด (VAS), surface EMG median frequency (MF), และคะแนนของอาการปวดคอและการดำเนินชีวิต (NDI)
ตัวอย่างทดสอบ: อาสาสมัครหญิงที่มีอาการปวดคอเรื้อรังมานานกว่า 3 เดือน จากการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์อย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง (8.18±2.22) อายุ 25–35 ปี (29.12±2.99) โดยไม่อยู่ในการรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัด
วิธีดำเนินการ: อาสาสมัคร 60 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน คือกลุ่มยืดกล้ามเนื้อคอและกลุ่มการหายใจลึกเพื่อการผ่อนคลาย โดยออกกำลังกายทุกวันที่ทำงานวันละ 2 เวลา วัดผลทั้งก่อนและหลัง 4 สัปดาห์ด้วยการวัดระดับ VAS ระดับ MF และ NDI
ผลการทดลอง: VAS และ NDI ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.001) จากการออกกำลังกายในกลุ่มยืดกล้ามเนื้อและกลุ่มหายใจลึกเพื่อการผ่อนคลาย การฝึกหายใจลึกเพื่อการผ่อนคลายไม่สามารถแก้ปัญหาอาการล้าของกล้ามเนื้อได้ส่วนการยืดกล้ามเนื้อสามารถแก้ปัญหาอาการล้าของกล้ามเนื้อได้เฉพาะทางด้านซ้ายเท่านั้น
สรุปผลการทดลอง: การยืดกล้ามเนื้อคอทำให้ระดับอาการปวด ระดับอาการล้าของกล้ามเนื้อคอ และระดับคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนการหายใจลึกเพื่อการผ่อนคลายทำให้ระดับอาการปวดและระดับคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นแต่ไม่ได้ทำให้อาการล้าของกล้ามเนื้อคอดีขึ้น
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์เชียงใหม่ ปี 2554, September ปีที่: 44 ฉบับที่ 3 หน้า 177-187
คำสำคัญ
Chronic neck pain, Neck exercise, Muscle fatigue, Median Frequency EMG, Neck Disability Index, ปวดคอเรื้อรัง, บริหารคอ, กล้ามเนื้อล้า