A Survey on Quality of Life in Epileptic Patients
วิริยา เชื้อลี*, สมศํกดิ์ เทียมเก่า, สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล
แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
บทนำ                 โรคลมชักมิใช่เป็นเพียงอาการชักเท่านั้น ยังส่งผลต่อการดำรงชีวิตหลายๆ ด้านของผู้ป่วย ได้แก่ การรู้สึกผิดที่เป็นโรคนี้ ขาดความมั่นใจในตนเอง บุคคลรอบข้างไม่เข้าใจ เสียโอกาสในการศึกษาและการทำงาน ต้องทรมานจากตัวโรค เป็นต้น หากบุคคลรอบข้าง เช่น บุคลากรทางสาธารณสุข ครอบครัว โรงเรียน หรือผู้ร่วมงานเข้าใจในโรคลมชักและปัญหาที่ผู้ป่วยโรคลมชักมี จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยโรคลมชักประสบผลสำเร็จและทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วัตถุประสงค์                เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชัก วิธีการศึกษา                การศึกษาเชิงพรรณนา ประชากร                ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักและรับการรักษาในคลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวนทั้งหมด 100 ราย  ผลการศึกษา                ผู้ป่วยโรคลมชักที่ศึกษาทั้งหมด 100 ราย แบ่งเป็นชาย 52 ราย (ร้อยละ 52) และหญิง 48 ราย (ร้อยละ 48), อายุระหว่าง 16-76 ปี อายุเฉลี่ย 37.23 ปี อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มมีอาการชัก 28.71 ปี พบว่ามีสถานภาพโสด ร้อยละ 41, การศึกษาต่ำกว่า ปริญญาตรี ร้อยละ 59, ว่างงาน ร้อยละ 47, รายได้มาจากบิดามารดา หรือต้องพึ่งพา ร้อยละ 49, รายได้เฉลี่ยจากครอบครัว < 10,000 บาท/เดือน ร้อยละ 59, ผลกระทบที่เกิดจากโรคลมชักต่อชีวิตประจำวัน มีผลต่องาน ร้อยละ 54, ขาดความมั่นใจในตัวเอง ร้อยละ 51, ผลต่อครอบครัว ร้อยละ 43, ผลต่อการตั้งเป้าหมายในชีวิต ร้อยละ 33 และผลต่อการพึ่งพาตนเอง ร้อยละ 32, ด้านความรู้สึกของผู้ป่วย รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องอยู่คนเดียว เมื่อเกิดการชัก ร้อยละ 44, รู้สึกเสี่ยงต่ออุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ร้อยละ 39.8, การหางานยาก ร้อยละ 36, การใช้ชีวิตในสังคม ร้อยละ 31 และรู้สึกว่าผู้ปกครองดูแลมากเกินไป ร้อยละ 28, ไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเป็นโรคลมชัก ร้อยละ 25, มีอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาทำให้มีปัญหาด้านความจำ ร้อยละ 46, ง่วงนอน ร้อยละ 44, เหนื่อยอ่อนเพลีย ร้อยละ 37.4, มีปัญหาเรื่องสมาธิ ร้อยละ 34.3 และนอนไม่หลับ ร้อยละ 21.3 ซึ่งอาการข้างเคียงเหล่านี้มีผลต่อการทำงาน ร้อยละ 39.5, มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ร้อยละ 40 คือรู้สึกงุ่มง่ามเงอะงะหรือไม่สบาย ร้อยละ 21.2 และขาดความมั่นใจในการอยู่คนเดียว ร้อยละ 6.1 โดยแพทย์ไม่ได้อธิบายอาการข้างเคียงของยา ร้อยละ 66, ผู้ป่วยที่มารักษาอาการชัก ถือว่าอาการดีขึ้น ได้ผลร้อยละ 73 และมีความพอใจในการรักษา ร้อยละ 91 สรุป                ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ ว่างงานสูง รายได้ต่ำ และต้องพึ่งพาผู้อื่น นอกจากนี้โรคลมชักยังมีผลกระทบต่อความรู้สึกและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
ที่มา
วารสารอายุรศาสตร์อีสาน ปี 2548, January - March ปีที่: 4 ฉบับที่ 1 หน้า 21-27