ผลของกิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรกต่อความรุนแรงของอวัยวะล้มเหลวในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการ Sepsis
กรองกาญจน์ สังกาศ, ยงค์ รงค์รุ่งเรือง, ศศิมา กุสุมา ณ อยุธยา, เพ็ญศรี อุ่นสวัสดิพงษ์*Lerdsin Hospital; E-mail: pensri.on@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของอวัยวะล้มเหลวในผู้ป่วยกลุ่มอาการ sepsis ที่ได้รับกิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรก กับผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลตามปกติรูปแบบการวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลองวิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นกลุ่มอาการ sepsis และเข้าพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม และหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน จำนวน 70 ราย แบ่งกลุ่มละ 35 ราย ด้วยวิธีจับฉลาก กลุ่มทดลอง คือกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรกและกลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือสำหรับใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1 แนวปฏิบัติการพยาบาลแบบมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรกของกลุ่มอาการ Sepsis 2 แบบประเมินอวัยวะล้มเหลว “SOFA score” วิเคราะห์ข้อมูลโดยทดสอบ Mann-Whitney U testผลการวิจัย: พบว่าเมื่อครบ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่ได้รับกิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรก มีคะแนนเฉลี่ย SOFA score น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ผู้ป่วยที่ได้รับกิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรกเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าร้อยละ 11 อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 2.86สรุปและข้อเสนอแนะ: การใช้กิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรก ในผู้ป่วยกลุ่มอาการ sepsis สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของอวัยวะล้มเหลว ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ ดังนั้นพยาบาลและทีมสุขภาพควรตระหนักถึงความสำคัญ และนำกิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรกไปใช้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการ sepsis ทุกราย
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2554, April-June
ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 Suppl 1 หน้า 102-110
คำสำคัญ
early goal-directed nursing intervention, patients with sepsis syndrome, severity of organ failure, กิจกรรมพยาบาลมุ่งเป้าในระยะ 6 ชั่วโมงแรก, ความรุนแรงของอวัยวะล้มเหลว, ผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการ Sepsis