การประเมินประสิทธิภาพของการประคบเย็นต่อความสบายของผู้ป่วยก่อน และหลังการฉีดโบทูลินุมท็อกซินชนิด เอ
นิพัฒน์ เอื้ออารี, พัชรินทร์ แซ่ลิ่ว, ภัสสร ปรีชาไว*Department of Ophthalmology, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkhla 90110, Thailand; Phone: 074-451-381, Fax: 074-429-619; E-mail: ppassorn@yahoo.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการประคบเย็นในการลดความเจ็บปวดหลังฉีดยาโบทูลินุมท็อกซินชนิด เอการออกแบบ: การศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มไปข้างหน้าวัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยจำนวน 60 คน ที่ได้รับการฉีดโบทูลินุมท็อกซินเพื่อการรักษา จะได้รับการบันทึกข้อมูลเบื้องต้น เช่นอายุ เพศ เชื้อชาติ โรคประจำตัว โดยแบ่งผู้ป่วยจากการสุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 กลุ่ม ประคบเย็น 5 นาที ก่อนฉีด botulinum toxin A, กลุ่มที่ 2 กลุ่มประคบเย็นหลังจากฉีด botulinum toxin A ทันทีนาน 5 นาทีและกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มเปรียบเทียบโดยไม่ต้องมีการประคบเย็น เก็บคะแนนความปวดโดยใช้ pain score คือ numeric pain distress scale คะแนน 0-10 ทันทีที่ฉีดยาเสร็จและหลังฉีดยาเสร็จแล้ว 5 นาที และรวมทั้งบันทึกภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการศึกษาที่ได้รับการฉีดโบทูลินุมท็อกซิน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 ทั้งหมด 60 ราย มีอายุ 32-76 ปี (อายุเฉลี่ย 58.15 ± 10.51 ปี) ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเพศหญิง ถึง 49 คน (คิดเป็น 81.7 เปอร์เซ็นต์) มีผู้ป่วย 45 คน (คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์) มีภาวะใบหน้ากระตุกครึ่งซีกและ 15 คน มีภาวะหนังตากระตุกค่าเฉลี่ยระดับความปวดทันทีหลังฉีดโบทูลินุมท็อกซินเสร็จในกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 คิดเป็น 3.55 ± 1.85, 5.15 ± 2.81 และ 6.1 ± 2.63 ตามลำดับโดยการประคบเย็นนาน 5 นาที ก่อนฉีดโบทูลินุมท็อกซิน สามารถลดความปวด ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ประคบเย็นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.005) แต่ลดความปวดได้ไม่แตกต่างกับกลุ่มประคบเย็นหลังฉีดยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.10) ส่วนค่าเฉลี่ยระดับความปวด 5 นาที หลังฉีดโบทูลินุมท็อกซินเสร็จในกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 คิดเป็น 0.3 ± 0.73, 1.35 ± 2.47 และ 1.2 ± 2.09 ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.187) ไม่พบภาวะเลือดออกบริเวณที่ฉีดยาในกลุ่มประคบเย็น 5 นาที ก่อนฉีดโบทูลินุมท็อกซิน และพบภาวะเลือดออกทั้งหมด 9 ราย อยู่ในกลุ่มประคบเย็นหลังฉีดยานาน 5 นาที 5 ราย และกลุ่มไม่ได้ประคบเย็น 4 ราย โดยพบว่ากลุ่มประคบเย็นนาน 5 นาที ก่อนฉีดยาลดภาวะเลือดออกได้ดีกว่ากลุ่มประคบเย็นหลังฉีดยา 5 นาที (p = 0.0472) ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่พบว่า ภาวะเลือดออกกลุ่มประคบเย็นนาน 5 นาที ก่อนฉีดยากับกลุ่มไม่ได้ประคบเย็นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.106) และภาวะเลือดออกในกลุ่มที่ประคบเย็นหลังฉีดยา 5 นาที กับกลุ่มที่ไม่ได้ประคบเย็น ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 1)สรุป: การประคบเย็น 5 นาที ก่อนฉีดยาโบทูลินุมท็อกซินมีประสิทธิผลสามารถช่วยลดความปวดได้ดีกว่าการไม่ประคบเย็น และพบภาวะเลือดออกน้อยกว่ากลุ่มประคบเย็นหลังฉีดยา 5 นาที ดังนั้นควรเลือกใช้ การประคบเย็น 5 นาทีก่อนฉีดยาโบทูลินุมท็อกซินเพื่อลดความปวดและป้องกันภาวะเลือดออก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2553, October
ปีที่: 93 ฉบับที่ 10 หน้า 1200-1201
คำสำคัญ
pain, Blepharospasm, Botulinum toxin A, Hemifacial spasm