ศึกษาความชุก คุณภาพชีวิตและความร่วมมือในการรักษาของภาวะการรับรู้บกพร่องในผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Maliwan Kongkanwan, Ram Rangsin, กลวัชร ศิระพลานนท์, ชิตวร จิระจันทร์, ณัฐภาคย์ ประทักษ์พิริยะ, ดุสิต จันทยานนท์*, พงศธร เนตราคม, พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ, ภูมิพัฒน์ วงศ์ชัยวัชรกูล, มาลิวรรณ ก้องกังวาล, วัชราภรณ์ เพ็ญศิริ, อรรจน์พล มาประจง
Department of Family Medicine, Phramongkutklao College of Medicine
บทคัดย่อ
โรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับภาวะการรับรู้บกพร่องและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคสมองเสื่อม ดังนั้นการศึกษาหาความชุกของภาวะนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยและทำให้เข้าถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการร่วมมือในการรักษา วัตถุประสงค์:เพื่อศึกษาความชุกของภาวะการรับรู้บกพร่องระยะแรก (Mild cognitive impairment) และภาวะการรับรู้บกพร่อง (cognitive impairment) ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ลุมพลี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา วิธีการศึกษา:เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional descriptive study ในผู้ป่วยเบาหวาน 92 ราย โดยการทำแบบสอบถามกับกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ลุมพลี ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ในระหว่างวันที่ 6-20 ธันวาคม 2553 แบบสอบถามประกอบด้วย แบบทดสอบ MMSE-Thai 2002 แบบทดสอบ MOCA แบบทดสอบคุณภาพชีวิต แบบทดสอบ CET (compliance evaluation test) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมทางสถิติหาความชุกของภาวการณ์รับรู้บกพร่องระยะแรก และภาวะการรับรู้บกพร่อง หาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้บกพร่องระยะแรกกับคุณภาพชีวิตและการร่วมมือในการรักษา ผลการศึกษา:ผู้ป่วยเบาหวานอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป จำนวน 92 ราย ความชุกของภาวะการรับรู้บกพร่องคิดเป็น ร้อยละ 7.61 ความชุกของภาวะการรับรู้บกพร่องระยะแรกคิดเป็น ร้อยละ 28.26 พบว่าภาวะการรับรู้บกพร่องระยะแรกมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตไม่ดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป : ภาวะการรับรู้บกพร่องระยะแรกสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นควรมีการตรวจคัดกรองภาวะการรับรู้บกพร่องนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานในงานเวชปฏิบัติ
ที่มา
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ปี 2554, January-April ปีที่: 1 ฉบับที่ 1 หน้า 15-23
คำสำคัญ
Quality of life, Diabetes mellitus, คุณภาพชีวิต, โรคเบาหวาน, ความร่วมมือในการรักษา, Cognitive impairment, Patient compliance, ภาวะการรับรู้บกพร่อง