การเตรียมช่องคลอดก่อนผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องด้วย 1% โพวิโดน-ไอโอดีน เพื่อลดภาวะไข้หลังผ่าตัด: การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม
พีรพล เจริญวิบูลย์พันธุ์
Division of Obstetrics and Gynecology, Nakhon Pathom Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการเตรียมช่องคลอดก่อนการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องด้วย 1% โพวิโดน-ไอโอดีน ต่อการลดภาวะไข้หลังผ่าตัด การติดเชื้อในโพรงมดลูก การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดและระยะเวลาพักรักษาในโรงพยาบาลวัสดุและวิธีการ: เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่โรงพยาบาลนครปฐม ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ.2553 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2554 โดยศึกษาจากสตรีที่ผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง จำนวน 600 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 300 ราย โดยการสุ่มแบบใช้โปรแกรม random allocation software กลุ่มศึกษาเป็นสตรีที่ผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องจำนวน 300 ราย ได้รับการเตรียมผ่าตัดคลอดโดยทั่วไปร่วมกับการเตรียมช่องคลอดก่อนผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องด้วย 1% โพวิโดน-ไอโอดีน กลุ่มควบคุมเป็นสตรีที่ผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องจำนวน 300 ราย ได้รับการการเตรียมผ่าตัดคลอดโดยทั่วไป เพื่อเปรียบเทียบภาวะใช้หลังผ่าตัด การติดเชื้อในโพรงมดลูก การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด ระยะเวลาพักรักษาในโรงพยาบาลผลการวิจัย: พบว่าภาวะไข้หลังผ่าตัดของกลุ่มศึกษาเท่ากับร้อยละ 11 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่พบร้อยละ 31 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.001 ไม่พบการติดเชื้อในโพรงมดลูกในกลุ่มศึกษา แต่พบในกลุ่มควบคุมร้อยละ 3 ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.004 และพบการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดในกลุ่มศึกษาจำนวน 1 ราย แต่ในกลุ่มควบคุมพบการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดจำนวน 4 ราย ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของระยะเวลาพักรักษาในโรงพยาบาล เมื่อวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ ในเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อภาวะไข้หลังผ่าตัด พบว่าการไม่เตรียมช่องคลอดก่อนผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องเสี่ยงมากกว่าการเตรียมช่องคลอด 3.68 เท่า (odds ratio 3.68, 95% confidence interval 2.36-5.74) และระยะเวลาของน้ำเดินที่เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง เสี่ยงต่อการมีภาวะไข้หลังผ่าตัดเพิ่มขึ้น 1.10 เท่า (odds ratio 1.10, 95% confidence interval 1.05-1.14) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < 0.001สรุป: การเตรียมช่องคลอดก่อนผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องด้วย 1% โพวิโดน-ไอโอดีน ช่วยลดภาวะไข้หลังผ่าตัดและการติดเชื้อในโพรงมดลูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและสามารถลดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้แต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หัตถการนี้จึงน่าจะมีประโยชน์ในการลดภาวะไข้หลังผ่าตัดและการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2554, April-June ปีที่: 30 ฉบับที่ 2 หน้า 117-124
คำสำคัญ
Povidone-iodine, Cesarean delivery, Postoperative febrile morbidity, Vaginal painting, การเตรียมช่องคลอด, ผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง, ภาวะไข้หลังผ่าตัด, โพวิโดน-ไอโอดีน