การปิดท่อระบายชั่วคราวในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถลดการเสียเลือดหรือไม่: การศึกษาเบื้องต้นแบบไปข้างหน้าและเลือกสุ่ม
ไพศาล ปริยปราณี
Division of Orthopedics, Samutsakorn Hospital
บทคัดย่อ
                การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจทำให้เกิดการเสียเลือดปริมาณมากหลังผ่าตัด ผู้วิจัยทำการศึกษาแบบไปข้างหน้าโดยเลือกสุ่มผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม 401 ราย ที่นัดมาเพื่อทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดใช้ซีเมนต์ (Cemented knee arthroplasty) ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มแรกเป็นผู้ป่วยที่เปิดท่อระบายทันทีหลังลดความดันเครื่องช่วยห้ามเลือด (tourniquet) กลุ่มที่สองปิดท่อระบายชั่วคราวและเปิดเมื่อครบ 2 ชั่วโมงหลังลดความดันเครื่องช่วยห้ามเลือด ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างของเพศ อายุเฉลี่ย เข่าข้างที่ผ่าตัด ระดับฮีโมโกลบินก่อนผ่าตัด และระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด ผลการศึกษาพบว่าปริมาณเลือดที่เสียหลังผ่าตัด (post-operative blood loss) ในกลุ่มที่เปิดท่อระบายเลือดทันที (785.15 มล.) มากกว่ากลุ่มที่ปิดท่อระบายเลือดชั่วคราว (513.25 มล.) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.001) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของระดับฮีโมโกลบินที่ลดลงหลังผ่าตัด 72 ชั่วโมง ระดับคะแนนความเจ็บปวด พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่า การเกิดอาการแทรกซ้อนของแผลผ่าตัด และการติดเชื้อในข้อเข่าเทียมที่เวลา 6 เดือนหลังผ่าตัด โดยสรุปการศึกษานี้บ่งชี้ว่า การปิดท่อระบายชั่วคราว 2 ชั่วโมง สามารถลดปริมาณเลือดที่เสียหลังผ่าตัด อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น และระยะเวลาที่ติดตามอาการนานขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อสรุปนี้ในอนาคต
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2553, July-September ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 241-247
คำสำคัญ
Total knee arthroplasty, Temporary clamping of drain, การปิดท่อระบายชั่วคราว, ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม