ต้นทุน-ประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคแบบมีพี่เลี้ยงในชุมชนกับแบบในโรงพยาบาล
นุศราพร เกษสมบูรณ์, นักขัต เสาร์ทอง
Pharmacy Department, Maesai Hospital, Chiang Rai Province, Thailand
บทคัดย่อ
          การวิจัยนี้เพื่อเปรียบเทียบต้นทุน-ประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคกลุ่มมีพี่เลี้ยงดูแลในชุมชนกับกลุ่มที่ดูแลโดยโรงพยาบาล ที่ปฏิบัติต่อประชาชนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยประเมินต้นทุนในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และเปรียบเทียบต้นทุน-ประสิทธิผลโดยคำนวณจากต้นทุนการรักษาผู้ป่วยได้ผลสำเร็จ กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบจับคู่จากผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ อายุ 15-60 ปี แบ่งเป็นกลุ่มมีพี่เลี้ยงดูแลในชุมชน 54 ราย และกลุ่มดูแลที่โรงพยาบาล 52 ราย ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อยคือ เช้ารักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1-7, 8-14 และ 14 วันขึ้นไป จำนวน 38, 8 และ 6 ราย ตามลำดับ รูปแบบของการวิจัยเป็นแบบเก็บข้อมูลย้อนหลังและไปข้างหน้าในช่วง 1 พฤศจิกายน 2552 – 31 กรกฎาคม 2553 รวม 9 เดือน ข้อมูลต้นทุนในมุมมองของผู้ให้บริการ รวบรวมได้จากแฟ้มประวัติการรักษาของผู้ป่วย ส่วนข้อมูลด้านต้นทุนในมุมมองของผู้รับบริการได้จากการสัมภาษณ์                จากการวิจัย พบว่า ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคกลุ่มมีพี่เลี้ยงดูแลในชุมชน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายร้อยละ 30.31 เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มดูแลที่โรงพยาบาล กลุ่มมีพี่เลี้ยงดูแลในชุมชนมีต้นทุนเฉลี่ย 9,436.84 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มดูแลที่โรงพยาบาล เฉลี่ย 13,540.32 บาทต่อราย เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มย่อยนอนโรงพยาบาล 1-7, 8-14 และมากกว่า 14 วัน มีต้นทุนเฉลี่ย 10,051.97, 19,168.63 และ 27,969.72 บาทต่อราย ตามลำดับ ด้านเวชกรรมพบว่า ผลความสำเร็จของการรักษาแบบกลุ่มมีพี่เลี้ยงในชุมชนและกลุ่มดูแลในโรงพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 90.74 และ 94.23 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม พบว่า ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้สำเร็จเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด กลุ่มดูแลที่โรงพยาบาลจะมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มมีพี่เลี้ยงดูแลในชุมชน 1,175.78 บาท                ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย คือ รูปแบบการมีพี่เลี้ยงดูแลในชุมชน เป็นทางเลือกในการรักษาในผู้ป่วยวัณโรคที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และมีส่วนสำคัญต่อการจัดตั้งหน่วยรักษาวัณโรคภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรในโรงพยาบาลแม่สาย
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2554, January-March ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 47-57
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Community-based DOTS, Hospital care, Treatment of tuberculosis patient, การรักษาแบบมีพี่เลี้ยง, การรักษาในโรงพยาบาล, ค้นทุน-ประสิทธิผลการรักษา, ผู้ป่วยวัณโรค