ผลการฝึกกายภาพบำบัดผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บที่บ้านโดยผู้ดูแลหลักและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ฉลอง พันธ์ุกนกพงศ์, วรุณนภา ศรีโสภาพ*
Department of Physical Therapy, Faculty of Allied Health Sciences, Naresuan University
บทคัดย่อ
ภาวะอัมพาตของร่างกายจากไขสันหลังบาดเจ็บพบมากขึ้นเนื่องจากอุบัติการณ์ของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจึงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและให้ช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการฝึกทางกายภาพบำบัดที่บ้านแก่ผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บเรื้อรังในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก 9 คนโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้ดูแลหลัก ประเมินความสามารถในการช่วยเหลือตนเองด้วยแบบประเมิน Spinal Cord IndependenceMeasure III (SCIM III) ประเมินคุณภาพชีวิตด้วยแบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทยและประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยแบบประเมิน Beck Depression Inventory II (BDI II ก่อนเริ่มศึกษา จากนั้นนักกายภาพบำบัดสอนวิธีฝึกผู้ป่วยให้แก่ อสม. และผู้ดูแลหลักเพื่อให้ฝึกผู้ป่วย3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 60 นาทีเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ประเมินด้านต่างๆ ซ้ำ เปรียบเทียบค่ามัธยฐานของคะแนนประเมินด้านต่าง ๆ ก่อนและหลังฝึกด้วยการทดสอบ Wilcoxon signed rank กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 พบว่าหลังฝึก 4 สัปดาห์ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(p = 0.007) แต่คุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าไม่ต่างจากตอนเริ่มต้น (p = 0.477 และ 0.096 ตามลำดับ)นั่นคือการฝึกทางกายภาพบำบัดโดย อสม. และผู้ดูแลหลักเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วย แต่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้า
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2554, January-April ปีที่: 28 ฉบับที่ 1 หน้า 51-59
คำสำคัญ
Spinal cord injury, Community health aides, Home-based physical therapy, กายภาพบำบัดที่บ้าน, อาสาสมัครสาธารณสุข, ไขสันหลังบาดเจ็บ