ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ
นงลักษณ์ ทองอินทร์*, ภีรพร ด่านธีระภากุล, เพ็ญจันทร์ เสรีวัฒนา
Nursing Department, Faculty of Medicine Vajira Hospital, University of Bangkok Metropolis
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจวิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบศึกษากลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบภายหลังได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จำนวน 30 ราย โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มสมรรถนะ การเสริมสร้างพลังอำนาจ การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การกำหนดเป้าหมายการจัดการตนเอง ด้วยวิธีการสอน การให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา การประเมินตนเองเป็นรายบุคคล และได้รับคู่มือสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีการติดตามเยี่ยม 1 ครั้งก่อนจำหน่ายจากโรงพยาบาล และได้รับการเยี่ยมทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง ในสัปดาห์ที่ 1 และ 3 หลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการประเมินภาวะสุขภาพ และประเมินคุณภาพชีวิต หลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ 1 วัน ก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง และหลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง 1 เดือน โดยภาวะสุขภาพประเมินด้วย visual analog score ส่วนคุณภาพชีวิตประเมินด้วย SF-36 (short form 36 health survey) ซึ่งมีทังหมด 8 องค์ประกอบ เปรียบเทียบภาวะสุขภาพ คุณภาพชีวิตโดยรวม และคุณภาพชีวิตแยกตามองค์ประกอบระหว่างก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองผลการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 53.3 อายุเฉลี่ย 60.9±14.7 ปี ภายหลังได้รับโปรแกรมจัดการตนเอง มีคะแนนเฉลี่ยภาวะสุขภาพตามการรับรู้ของตนเอง และคุณภาพชีวิตโดยรวม (8.1±1.8 และ 93.4±5.5 ตามลำดับ) สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง (2.5±2.1 และ  4.2±7.1 ตามลำดับ)  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยจำแนกตามองค์ประกอบคุณภาพชีวิตทั้ง 8 องค์ประกอบได้แก่ ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย บทบาทที่ถูกจำกัดจากปัญหาทางด้านร่างกาย ความเจ็บปวด บทบาททางสังคม สุขภาพจิตทั่วไป บทบาทที่ถูกจำกัดจากปัญหาทางด้านอารมณ์ ความกระฉับกระเฉง และความคิดเห็นด้านสุขภาพทั่วไป พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตภายหลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองทั้ง 8 องค์ประกอบ (84.7±16.4, 95.8±11.5, 93.5±6.6, 93.3±9.7, 96.0±4.8, 100.0±0.0, 93.0±7.8, 87.0±8.9 ตามลำดับ) สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง (10.2±13.9, 0.0±0.0, 6.9±19.9, 4.9±14.1, 4.8±2.6, 0.0±0.0, 5.0±9.9, 1.6±4.5 ตามลำดับ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสรุป: ภายหลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนภาวะสุขภาพ และคุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2554, January-April ปีที่: 51 ฉบับที่ 1 หน้า 77-86
คำสำคัญ
Quality of life, Coronary artery disease, Percutaneous coronary intervention, Health status, SELF-MANAGEMENT