ผลของการฉีดพลาสมาที่มีปริมาณเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าในผิวหนังต่อการลดริ้วรอยของผิวหนังบริเวณใบหน้า
กนกพร เรมกานนท์*, มนตรี อุดมเพทายกุล, สุวดี ชวนไชยะกูล
The Skin Center, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของพลาสมาที่มีปริมาณเกล็ดเลือดเข้มข้น (platelet-rich plasma; PRP)ที่ฉีดเข้าในผิวหนังต่อการลดริ้วรอยของผิวหนังบริเวณใบหน้าเปรียบเทียบกับการฉีดยาหลอกวิธีการดำเนินการวิจัย: การศึกษานี้เป็นการศึกษานำร่องแบบสุ่มปกปิดมีกลุ่มเปรียบเทียบ ศึกษาในอาสาสมัครหญิง อายุ 35-60 ปี ที่มารับบริการที่ศูนย์ผิวหนัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2552 – เดือนมีนาคม พ.ศ.2553 จำนวน 20 ราย โดยสุ่มว่าหน้าข้างใดจะได้รับการฉีดด้วย PRP หรือยาหลอก (น้ำเกลือนอร์มอล) โดยฉีด 2 บริเวณ แต่ละบริเวณจะฉีดหลายจุด โดยห่างกันจุดละ 0.5 ซม. และฉีดจุดละ 0.05 มล. บริเวณหางตาฉีดยารวม 1 มล. และบริเวณผิวหนังหน้าต่อใบหูฉีดรวม 0.5 มล. จะฉีดทุกสัปดาห์ รวม 4 ครั้ง ประเมินริ้วรอยของผิวหนัง (average roughness; R2) ด้วยเครื่อง Visionscan® VC98 ก่อนรักษาและหลังการรักษาครั้งสุดท้าย 3 เดือน ประเมินผลข้างเคียงและสอบถามระดับความพึงพอใจในภาพรวม อาสาสมัคร 3 ราย ได้รับการตรวจจุลพยาธิวิทยาของผิวหนังบริเวณหน้าต่อใบหูก่อนรักษาและหลังรักษา 3 เดือนผลการวิจัย: อาสาสมัครมีอายุเฉลี่ย 45.0±7.4 ปี ได้รับการฉีด PRP ที่ใบหน้าข้างซ้ายและข้างขวา 12 ราย ก่อนการรักษามีค่าเฉลี่ย R2  บริเวณหางตาข้างที่ฉีด PRP และยาหลอกเท่ากับ 91.1±9.9 และ 89.6±9.2 ไมโครเมตร ตามลำดับ บริเวณผิวหนังหน้าต่อใบหูข้างที่ฉีด PRP และยาหลอกเท่ากับ 93.2±10.5 และ 92.7±6.9 ไมโครเมตร ตามลำดับ หลังการรักษาครั้งสุดท้าย 3 เดือน บริเวณหางตาข้างที่ฉีด PRP และยาหลอกมีค่าเฉลี่ย R2 ลงลดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเป็น 66.0±6.4 และ 67.1±8.4 ไมโครเมตร ตามลำดับ บริเวณผิวหนังหน้าต่อใบหูข้างที่ฉีด PRP และยาหลอกมีค่าเฉลี่ย R2 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเป็น 68.0±7.2 และ 67.7±6.6 ไมโครเมตร ตามลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 วิธี พบว่าแตกต่างกันอย่างๆไม่มีนัยสำคัญทางสถิติอาสาสมัครร้อยละ 75.0 พึงพอใจต่อการรักษาทั้ง 2 วิธี ผลข้างเคียงพบรอยจ้ำเลือด อาการบวม และรอยเข็มแทง ซึ่งเกิดเพียงเล็กน้อยและหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์ ผลการศึกษาจุลพยาธิวิทยา พบมีการสร้างใหม่ของคอลลาเจนและอิลาสตินเกิดขึ้นทั้งจากการฉีด PRP และยาหลอกสรุป: การฉีดพลาสมาที่มี่ปริมาณเกล็ดเลือดเข้มข้นในผิวหนัง ทำให้ริ้วรอยของผิวหนังบริเวณใบหน้าลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการฉีดยาหลอก
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2554, January-April ปีที่: 55 ฉบับที่ 1 หน้า 9-18
คำสำคัญ
Facial wrinkles, Intradermal injection, Platelet-rich plasma (PRR)