การฝึกบริหารกล้ามเนื้อกะบังลมก่อนคลอดสามารถป้องกันการเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดหรือไม่
ปรีชา วาณิชยเศรษฐกุล, อรวรรณ เล็กสกุลไชย*
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Thammasat University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการฝึกบริหารกล้ามเนื้อกะบังลมก่อนคลอดในการป้องกันภาวะปัสสาวะเล็ดวิธีการ: สตรีมีครรภ์ที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อนจำนวน 219 คน ที่มาฝากครรภ์ที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์อาสาเข้าร่วมโครงการ และตอบแบบสอบถาม King’s health ฉบับภาษาไทย สตรีจำนวน 111 คน ถูกจัดเข้ากลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึก และอีก 108 คน เข้ากลุ่มที่ได้รับการฝึก ผลที่ต้องการวัดคือ ความชุกของการเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดที่มีความรุนแรงปานกลางถึงมากในช่วงไตรมาสแรก อายุครรภ์ 30-38 สัปดาห์และ 6 เดือนหลังคลอดผลการวิจัย: อาการปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะในเวลากลางคืนเป็นอาการที่พบมากที่สุดสองอันดับแรก มีสตรีเพียงร้อยละ 1.4 ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกและร้อยละ 1.8 ในกลุ่มที่ได้รับการฝึกมีอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ ในช่วงไตรมาสแรก ไม่มีสตรีในกลุ่มที่ได้รับการฝึกมีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม ในช่วงอายุครรภ์ 30-38 สัปดาห์ มีสัตรีในกลุ่มที่ได้รับการฝึกรายงานว่ามีภาวะไอจามปัสสาวะเล็ดระดับปานกลาง เป็นจำนวนน้อยกว่าสตรีในกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี = 0.03) ในช่วง 6 เดือนหลังคลอดสตรีในกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกรายงานว่ามีปัสสาวะบ่อย, ปัสสาวะในเวลากลางคืน, ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่และไอจามปัสสาวะเล็ดที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตบ่อยกว่าสตรีในกลุ่มที่ได้รับการฝึกแต่ไม่มีความสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบค่ากลางของระดับคะแนนระหว่างไตรมาสแรก และช่วง 3 เดือนหลังคลอดพบว่าสตรีในกลุ่มที่ได้รับการฝึกมีค่ากลางของระดับคะแนนสำหรับอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่น้อยกว่าค่ากลางของสตรีในกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติวิเคราะห์ผล: ความชุกของภาวะปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ และภาวะไอจามปัสสาวะเล็ดที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตระดับปานกลางถึงรุนแรงในช่วงไตรมาสแรกเท่ากับร้อยละ 3.2  และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อกะบังลมก่อนคลอดนำจะมีผลในการป้องกันภาวะไอ จามปัสสาวะเล็ดในช่วงอายุครรภ์ 30-38 สัปดาห์ (ค่าพี = 0.03) แต่ไม่พบผลนี้ในช่วง 6 เดือน หลังคลอด (ค่าพี = 0.82)
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2554, January-March ปีที่: 11 ฉบับที่ 1 หน้า 18-24
คำสำคัญ
Pregnancy, การตั้งครรภ์, Pelvic floor muscle, Urinary incontinence, กล้ามเนื้อกะบังลม, ภาวะปัสสาวะเล็ด