คุณภาพชีวิตของผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังเรื้อรัง: การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่คาสายสวนปัสสาวะและสวนปัสสาวะเป็นระยะๆ
Tongprasert S, อภิชนา โฆวินทะ, เพชรไพลิน พงษ์บริบูรณ์*
Department of Rehabilitation Medicine, Faculty of Medicine, Chiang Mai University, Chiang Mai 50200, Thailand; E-mail address: petchrehab@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังเรื้อรัง ระหว่างกลุ่มที่คาสายสวนปัสสาวะและสวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆ และเหตุผลที่เลือกวิธีการคาสายสวนปัสสาวะรูปแบบการวิจัย: การศึกษาแบบตัดขวางและเปรียบเทียบสถานที่ทำการวิจัย: โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กลุ่มประชากร: ผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังเรื้อรังเป็นเวลานานมากกว่า 1 ปีและขับถ่ายปัสสาวะโดยการสวนปัสสาวะวิธีการศึกษา: ใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูล 2 ส่วน คือ 1) ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ (ISCOS core data Sets and lower urinary tract function basic data set) และ 2) แบบสอบถามเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) สำหรับผู้ที่คาสายสวนปัสสาวะต้องตอบแบบสอบถามเรื่องเหตุที่เลือกการคาสายสวนปัสสาวะผลการศึกษา: ผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังเรื้อรังทั้งหมด 108 คน ร้อยละ 79 เป็นเพศชาย, ร้อยละ 64 อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี, ร้อยละ 29 เป็นอัมพาตทั้งตัว, ร้อยละ 38 คาสายสวนปัสสาวะ, ร้อยละ 62 สวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆ และร้อยละ 31 มีปัสสาวะเล็ดราด. ค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย, ด้านจิตใจ, ด้านสัมพันธภาพทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ.เมื่อแยกพิจารณาแต่ละปัจจัยพบว่าที่ช่วงอายุมากกว่า 40 ปี กลุ่มคาสายสวนปัสสาวะมีค่าเฉลี่ยคะแนนด้านสัมพันธภาพ ทางสังคมสูงกว่ากลุ่มที่สวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (9.8, 8.1, p=0.02). เมื่อใช้ multivariate analysis เพื่อควบคุมตัวแปร ได้แก่ การสวนปัสสาวะ, ระยะเวลาที่เป็นอัมพาต, ความรุนแรงของอัมพาต และการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ พบว่าอายุมากกว่า 40 ปี มีความสัมพันธ์เชิงลบต่อคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย (-1.9; 95%CI -3.8 to -0.2; p=0.03) และด้านสัมพันธภาพทางสังคม (-1.1; 95%CI -2.1 to -0.1; p=0.04). ส่วนเหตุผลที่เลือกคาสายสวนปัสสาวะนั้น ร้อยละ 95 ระบุว่าการคาสายสวนปัสสาวะสะดวกกว่าการสวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆสรุป: การคาสายสวนปัสสาวะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังเรื้อรังไม่แตกต่างจากการสวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆ และเหตุผลหลักที่เลือกคาสายสวนปัสสาวะคือความสะดวก
ที่มา
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ปี 2554, January ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 13-20
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, บาดเจ็บไขสันหลัง, Spinal cord injury, Urinary catheterization, การสวนปัสสาวะ