การเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการให้ยาอินอกซาพารินผ่านทางหลอดเลือดแดงฟีมอรอลระหว่างการทำหัตถการสวนสายหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ฉุกเฉินเทียบกับ unfractionated heparin
ภาวิดา ปาจริยานนท์, ไพบูลย์ โชตินพรัตน์ภัทร*
Cardiovascular Unit Faculty of Medicine, Bangkok Metropolitan Administration Medical College and Vajira Hospital; E mail address: paibonch2005@hotmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ในการทำหัตถการสวนสายหลอดเลือดหัวใจ ได้มีการใช้ Unfractionated heparin (UFH) ทางหลอดเลือดดำเป็นมาตรฐานระหว่างที่ทำหัตถการแม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางการใช้หลายประการ มีการศึกษานำร่องใช้ยาอินอกซาพาริน 0.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทางหลอดเลือดแดงฟีมอรอล ก่อนทำหัตถการสวนสายหลอดเลือดหัวใจ สามารถทำให้ระดับ Anti-Xa activity อยู่ในเป้าหมายที่ 10 นาทีและประมาณ 1 ชั่วโมงหลังได้รับยา ร้อยละ 100 และร้อยละ 47 ตามลำดับ การวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาอินอกซาพารินขนาด 0.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทางหลอดเลือดแดงฟีมอรอลเทียบกับUFH ทางหลอดเลือดดำในประชากรไทยวิธีการ: ได้ศึกษาผู้ป่วย 70 ราย ในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลที่ต้องทำหัตถการสวนสายหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งจะได้รับยาอินอกซาพารินขนาดขนาด 0.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทางหลอดเลือดแดงฟีมอรอล และผู้ป่วยที่เหลือจะได้รับยา UFH 70 -100 ยูนิต /กิโลกรัมทางหลอดเลือดดำและตรวจวัดระดับ anti-Xa activity และ activated clotting time (ACT) ตามลำดับ ผลลัพธ์ปฐมภูมิของการวิจัย ดูสัดส่วนของผู้ป่วยที่ระดับฤทธิ์การต้านการแข็งตัวของเลือดได้เป้าหมายระหว่างการทำหัตถการสวนสายหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มได้รับยาอินอกซาพารินเทียบกับ UFH ผลลัพธ์ทุติยภูมิ ดูผลแทรกซ้อนด้านการขาดเลือดและเลือดออกใน 24 ชั่วโมงและ 30 วันหลังทำหัตถการ, ระดับ anti-Xa activity ที่ 2 ชั่วโมงในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาอินอกซาพารินผลการศึกษา: ระดับฤทธิ์การต้านการแข็งตัวของเลือดได้เป้าหมายมากกว่าในผู้ป่วยที่ได้รับยาอินอกซาพารินเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับ UFH คิดเป็นร้อยละ 97.6 และ 3.3 ตามลำดับ (P<0.001) ระยะเวลาเฉลี่ยการทำหัตถการ 40.97 ±19.55 นาทีและ 50.52 ± 24.32 นาทีในผู้ป่วยที่ได้รับยาอินอกซาพารินและผู้ป่วยที่ได้รับ UFH ตามลำดับ(P=0.09) ระดับ anti-Xa activity เฉลี่ยในผู้ป่วยที่ได้รับยาอินอกซาพารินตอนจบหัตถการและที่ 2 ชั่วโมง 0.86 ±0.24 และ 0.6 ±0.15 IU/ml ตามลำดับ มีผู้ป่วย 1 รายในกลุ่มอินอกซาพารินเกิดจ้ำเลือดบริเวณที่ใส่สายสวนหลอดเลือดแดงฟีมอรอล มีผู้ป่วย 1 รายในกลุ่ม UFH เสียชีวิตภายใน 30 วันหลังทำหัตถการสรุป: ในการทำหัตถการสวนสายหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ฉุกเฉิน การใช้ยาอินอกซาพารินขนาด 0.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทางหลอดเลือดแดงฟีมอรอลทำให้ระดับฤทธิ์การต้านการแข็งตัวของเลือดได้เป้าหมายมากกว่าการใช้ UFH การศึกษานี้ไม่ได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างที่มากพอจึงไม่สามารถหาความสัมพันธ์ผลแทรกซ้อนด้านการขาดเลือดและเลือดออกได้
ที่มา
วารสารโรคหัวใจ ปี 2553, October ปีที่: 23 ฉบับที่ 4 หน้า 164-173
คำสำคัญ
Percutaneous coronary intervention, Enoxaparin, Unfractionated Heparin